รศ.ดร.ฉวีวรรณ เศวตมาลย์

นักเรียนเก่าเตรียมอุดม รุ่นที่ 28

แบบอย่างของครูผู้ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของประเทศไทย

ครูฉวีวรรณเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านการศึกษา และด้วยความฝันอยากเป็นหมอเช่นเดียวกับเด็กอีกหลายคนในยุคของท่าน จึงได้ไปเรียนกวดวิชาเพื่อจะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม

“ตั้งแต่เรียนหนังสือ ฝันอยากเป็นหมอ คุณแม่เรียนเก่ง คุณพ่อเป็นทหารสอนภาษาอังกฤษให้ตลอดเพราะมีเพื่อนฝรั่งที่ USIS ไปเรียนกวดวิชาเข้าเตรียมฯ แต่เป็นโรงเรียนกวดเข้าเตรียมทหาร เป็นผู้หญิงคนเดียวในห้อง

พอสอบได้ เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมซึ่งเต็มไปด้วยนักเรียนที่เก่งระดับหัวกะทิจากหลากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ผลการเรียนก็ย่อมจะอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าเมื่ออยู่โรงเรียนเดิม

“ …พอเข้าได้ ทุกคนที่ 1 มา คะแนนตก ผิดหวังมาก แต่อาจารย์ทุกท่านน่ารัก ได้แรงบันดาลใจมากมาย ก็พยายามมากขึ้น แต่คะแนนก็ยังไม่ติดบอร์ด”

จึงต้องมุมานะในการเรียนให้มากขึ้นอีก เช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่นๆ  ท่ามกลางความเอาใจใส่ของอาจารย์ที่โรงเรียน จนกระทั่งเรียนจบเมื่อเรียนจบชั้นม.ศ. ๕ จะสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ การสอบในยุคนั้นต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศรอบเดียว โดยทุกคนมีสิทธิ์เลือกได้หกคณะจัดอันดับไว้ตามความต้องการก่อนหลัง ครูฉวีวรรณเลือกหมอตามที่ฝันไว้สามอันดับแรก แต่สอบติดคณะครุศาสตร์ที่เลือกไว้เป็นอันดับสุดท้าย

เมื่อมาเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์จุฬา แม้จะเริ่มจากความไม่ชอบ  แต่ก็ตั้งใจเรียนต่อไปโดยเลือก เอกคณิตศาสตร์ โทฟิสิกส์ จนในที่สุดก็ถึงจุดเปลี่ยน

“มาชอบตอนไปฝึกสอนที่อำนวยศิลป์ สอนชั้น ม.ศ. ๒ เด็กผู้ชายวัยรุ่น ชอบยกพวกตีกัน แต่ก็ควบคุมให้อยู่ในวินัยได้ จากตรงนี้ทำให้เปลี่ยนทัศนคติที่ไม่อยากเป็นครู ได้เห็นอนาคตของเด็ก มันอยู่ในกำมือเรา มีใจรักความเป็นครู”

เมื่อจบปริญญาตรีแล้วก็มามาสอบเป็นครูโรงเรียนเตรียม เริ่มชีวิตการเป็นครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ในบทบาทของครูโรงเรียน ครูฉวีวรรณ ไม่เพียงสอนวิชาการแต่ยังสอนให้มีวินัย กำราบเด็กที่ทำผิดให้มีสำนึกและยำเกรงครู

“พอมาสอนที่เตรียมฯ  เคยปราบเด็กที่กวนประสาทจนถึงกับต้องลงโทษให้หลาบจำหลายวิธี เด็กจะได้รู้ตัวว่าตัวเองทำผิด ครูต้องทำให้เด็กเกรง ไม่ใช่ทำให้กลัว”

และเมื่อโรงเรียนบดินทร์เดชาเพิ่งสร้างเสร็จ ก็ได้รับความไว้วางใจส่งให้ไปเป็นครู มศ.๕ วิทย์

ในบทบาทของผู้พัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

ครูฉวีวรรณณมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในโครงการทดลองของ สสวท ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนที่มุ่งเน้นแต่คำตอบ ซึ่งทำให้เด็กวิเคราะห์อะไรไม่เป็น มาเป็นการสอนแบบ Inquiry Method  ซึ่งเป็นการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  ขณะเมื่อกลับมาสอนโรงเรียนเตรียม ในช่วงเวลาที่มีการทดลองคณิตศาสตร์แผนใหม่ สายวิทย์ ตามโครงการทดลองของ สสวท ครูทดลองสอนตามแผนใหม่นั้น ต้องสอนทุกแขนงของคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง และหลังจากนั้น จึงได้ไปเป็นวิทยากรให้ สสวท อบรมครูคณิตศาสตร์ทั่วประเทศ

หลังจากนั้น ครูฉวีวรรณได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศรวมเวลา 5 ปี จบปริญญาโทและปริญญาเอกจาก Auburn University แล้วจึงกลับมาเมืองไทย ได้ทำงานเป็นศึกษานิเทศก์

ขณะที่เป็นศึกษานิเทศก์ ได้ทำสื่อการสอนคณิตศาสตร์ และสื่อสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์ ระดับ มศ.๓ แจกโรงเรียนทั่วประเทศ และบุกเบิกเรื่องคอมพิวเตอร์ของกรมสามัญศึกษา

หลังจากเป็นศึกษานิเทศก์อยู่ 11 ปี ก็ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ในบทบาทของผู้พัฒนาครูและตำราการสอนคณิตศาสตร์

ระหว่างที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครูเขียนตำรา  “ศิลปะการสอนคณิตศาสตร์” และ “การพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์”  และทำโครงการผลิตครูประกาศนียบัตร ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของ สสวท. ที่คณะศึกษาศาสตร์ เพื่อการผลิตครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีมีวินัย

ความภาคภูมิใจและเกียรติยศ

ครูฉวีวรรณ ได้ทำโครงการถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ สองโครงการคือ โครงการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์ “Think Quest” และโครงการ “สื่อ ๖๐ พรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งบูรณาการหลายหน่วยงานเพื่อจัดทำสื่อการเรียนการสอนช่วยครูที่ไม่ได้จบทางการศึกษาโดยตรงให้สามารถสอนได้ทุกวิชาในโรงเรียนขนาดเล็ก

ได้รับเกียรติบัตรจาก Auburn University ในฐานะ 1 ใน 400 ศิษย์เก่าผู้หญิงดีเด่น ในวาระ 100 ปี ที่รับผู้หญิงเข้าเรียน

สิ่งที่ฝากไว้สำหรับผู้ที่จะเป็นครู

ครูฉวีวรรณฝาก ให้ครูสอนให้ถึงแก่นแท้ของวิชา และควรถ่ายทอดประวัติและประโยชน์ของศาสตร์นั้น เพื่อเด็กจะมีใจอยากเรียน เรียนแล้วนอกจากจะได้ความเข้าใจเนื้อหา ก็ให้ได้นิสัยที่ดีมีประโยชน์จากวิชานั้นๆติดตัวไปด้วย

“ส่วนครูวันนี้บางคนยังสอนไม่ถึงแก่น ที่มาที่ไปอย่างไรไม่รู้ ตรีโกณเป็นอย่างไร พาราโบลาเป็นอย่างไร ครูควรจะรู้ประวัติและประโยชน์ของเรื่องที่สอนเด็กๆ จะได้เกิดความอยากเรียนคณิตศาสตร์ อย่างน้อย เมื่อเรียนแล้ว ก็จะเป็นคนละเอียดรอบคอบ มีเหตุมีผล”

ความชอบหรือไม่ชอบในอาชีพหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้รู้จักมันจริงๆ แต่เมื่อได้มีประสบการณ์ แล้วพบว่างานอาชีพนี้เราสามารถทำได้และมันเป็นงานที่มีคุณค่ามาก จึงเกิดการเปลี่ยนทัศนคติให้รักในอาชีพนั้นอย่างแท้จริง และเกิดการเสริมพลังและปลดปล่อยศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองพร้อมไปกับพัฒนางาน รวมทั้งขยายขอบเขตของผลลัพธ์ไปสู่วงการอาชีพ สังคม และประเทศชาติ

 

 

สนตอ. 2561-2562. ที่ระลึกงานคืนสู่เหย้า 2562. “9 ความฝัน 9 ความสำเร็จ.” 38-40.