กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์  (ครูลิลลี่)

นักเรียนเก่าเตรียมอุดม รุ่นที่ 48

คุณครูผู้ทำให้วิชาภาษาไทยกลายเป็นที่ชื่นชอบของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ

มาตามความฝันของเด็กต่างจังหวัด

กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ เด็กนักเรียนระดับแนวหน้าจากโรงเรียนอัสสัมชัญจังหวัดระยอง มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยความหมายมั่นว่าจะทำให้สำเร็จ เพื่อความภูมิใจของพ่อแม่

“บ้านเราเป็นชนชั้นกลางที่ไม่ได้เรียนหนังสือกัน ความฝันของเด็กต่างจังหวัดคือโรงเรียนเตรียมอุดม โรงเรียนดีที่สุดในประเทศนี้”

“เลือกอันที่สอบง่ายที่สุด ศิลป์ภาษา สอบแค่ภาษาไทย อังกฤษ สังคม มั่นใจมาก คิดว่าง่ายที่สุดแล้ว ถ้าเลือกได้จะกลับไปเรียนสายวิทย์ ตอนนั้นยังไม่มีใครแนะแนวให้เรา ไม่รู้จะเรียนสายวิทย์ได้ไหม รู้สึกมันยากมาก ตอนสอบทำได้หมดทั้งไทย ทั้งอังกฤษ เป็นเด็กมี “มง” มาแล้ว เคยเป็นตัวแทนจังหวัดมาแล้ว เราเทเต็มหน้าตักเลย”

ชีวิตในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ในขณะที่ต้องปรับตัวกับโรงเรียนใหม่ซึ่งมีนักเรียนทั้งชายและหญิง กิจมาโนชญ์ก็ยังได้แสดงให้เห็นภาวะผู้นำและความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์จนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ในชั้น

“พอสอบเข้าได้ สิ่งแรกคือ ปรับตัวเข้ากับเด็กผู้หญิง (หัวเราะ) คือเราอยู่โรงเรียนชายล้วนมาก่อน แต่มาอยู่นี่ ในห้องมีผู้ชายไม่ถึง 10 คน เรื่องวิชาการนี่ตัวแม่มาทั้งนั้น เหวอเหมือนกัน เราก็เลือกจับขั้วกับเพื่อนที่เป็นแนวๆ เรา แต่โชคดี มีรุ่นพี่ที่เมตตา มีรุ่นพี่รับน้องอุ่นใจมาก แต่มนุษย์มีสัญชาติญาณเป็นสัตว์สังคมนะ พอเข้ามา ม.4 ก็ได้เป็นหัวหน้าชั้นเลย สร้างความสัมพันธ์กับทุกตึก”

ท่ามกลางนักเรียนที่เก่งในด้านวิชาการ กิจมาโนชญ์ก็ฉายแววโดดเด่นทางด้านการอ่านประกวดและการโต้วาที

“เข้าชมรมวาทะศิลป์ ได้เป็นตัวแทนตึกไปประกวด เป็นตัวแทนนักเรียนเตรียมฯ ไปแข่งได้รางวัลอ่านบทสวดไหว้ครูปาเจราจริยาโหนตินี่แหละ ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ เฉือนกับสวนกุหลาบ สร้างชื่อให้โรงเรียน เป็นดาวโต้วาที ถึงวิชาการเราจะไม่เด่น แต่เอากิจกรรมเข้าสู้”

ความสนใจและการตั้งเป้าหมายเรื่องอาชีพ กับการเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย

อาชีพนักข่าว นักพูด เริ่มเข้ามาอยู่ในความสนใจของกิจมาโนชญ์ เมื่อได้แรงบันดาลใจจากนักอ่านข่าวและนักพูดท่านหนึ่ง

“ตั้งใจว่า อนาคตอยากเป็นนักข่าว นักพูด ดูรายการโต้วาทีของกรรณิการ์(กรรณิการ์ ธรรมเกษร) แล้วชอบ” ม.๖ เลือกนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เลย เรียนวาทวิทยา ตอกย้ำว่าเราเป็นเด็กชมรมวาทะศิลป์  พออยู่นิเทศฯ แล้วความฝันก็เปลี่ยนไปอีก ตอนนั้นมีจ๊อบอะไร พี่ๆ ก็เอาน้องไปช่วย ทำคอนเสิร์ต ไปโปรยกระดาษ แจกโปสเตอร์ ทำข่าว ถ่ายรูป หนังก็ทำ ทำมาหมด พอเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ชอบ ความฝันที่เรามอง มันไม่ใช่”

ประสบการณ์ทำงานกับการเรียนรู้ว่าอาชีพอะไรที่เหมาะกับตน

เมื่อมีประสบการณ์ทำงานจึงรู้ว่า แท้จริงเราชอบหรือไม่ชอบอะไร

“จุดพลิกผันจริงๆ คือตอนจบออกมาแล้ว  เงินเป็นหลัก (หัวเราะ) อะไรก็เอาแล้ว ตอนนั้น ได้หมื่นห้า ไปทำงานสร้างสัมพันธ์ให้กับพนักงานในโรงงาน Employee Relations เป็นความสัมพันธ์ภายใน พอทำๆไป เอ๊ะเราไม่ใช่นะ เราเป็นพีอาร์มากกว่า เราต้องเก๊ก เหนื่อยมาก เขาก็ไม่ปลื้มเรา บีบให้ออกโดยไม่ให้งานเรา รู้สึกไม่มีค่า ใจร้ายมาก แต่ก็ทำให้เรามีวันนี้”

“มีพี่ครุฯ อาร์ตสอนภาคค่ำ ปวช. ปวส. เขามาชวนให้ไปเป็นมวยแทนเด็ก ๑ คาบ เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว วิชาที่สอนก็ไม่ยาก เอ๊อ เรารู้สึกมีความสุข ได้โต้ตอบ ได้คุยกับเด็กๆ แล้วมีความสุขจังเลย นี่แหละ ที่ที่เราควรจะยืน เกิดจากตอนเรียนหนังสือ เราอยู่กับการติว การสอนเพื่อนๆ ผู้ชายทุกเทอม ในโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ทักษะตรงนี้มันอยู่กับตัวเรา บวกกับการเป็นนักพูดมาก่อน มันมีวิญญาณของความเป็นครู

เริ่มชีวิตการเป็นครู (อาจารย์)

กิจมาโนชญ์เลือกสอนในสิ่งที่ตนถนัด

“หลังจากนั้นก็ไปสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสยาม เป็นช่วงพฤษภาทมิฬ จำได้ ดูโฆษณาจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เขารับทันทีเลย ไปสอนวิชาสุนทรพจน์ ปี 2 ปี 4  ภาคค่ำ ได้เงินเดือนหมื่นนิดๆ เด็กที่มาเรียนเราสอนเหมือนเขาเป็นรุ่นเดียวกับเรา เราดูที่การเข้าเรียน เป็นครูนอกกรอบ ไม่ดูผลสอบ ดูที่ความตั้งใจของเขา ที่นี้การเป็นครูเงินเดือนมันไม่พอกินนะ ก็ไปสอนพิเศษ เริ่มจากสอนลูกหลานเพื่อนก่อน สอนในสิ่งที่รู้ ที่เราถนัด คือภาษาไทย สอนเด็ก ม.6 ใช้วิชาที่สอบเข้าเตรียมฯ ได้ เข้านิเทศฯ ได้

“ครูลิลลี่” ครูสอนภาษาไทยผู้โด่งดัง

ในที่สุด กิจมาโนชญ์ (ครูลิลลี่) ก็เลือกทางเดินของการสอนที่โรงเรียนกวดวิชา เป็นอาชีพหลัก

“ไม่เคยคิดว่าจะมาโด่งดังอะไรเลย ตอนนั้นรวมสตางค์ค่าสอน ค่าลำไพ่ก็ยังหมื่นกว่าบาท แล้วสอนพิเศษมันต้องสอนหลายชั่วโมง เราต้องเลือกทางเดิน เลือกที่จะเป็นมือปืนรับจ้างดีกว่า จนได้มาสอนที่โรงเรียนกวดวิชาพินนาเคิล ถึงเดี๋ยวนี้ 20 กว่าปีแล้ว”

“แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ลูกสาววิทวัส (สุนทรวิเนตร์) ซึ่งเป็นนักเรียนของเราก็ไปบอกพ่อ พ่อให้คนมาสืบ ก็เลยได้ไปออกรายการตีสิบ พ.ศ. 2544 หลังจากนั้น มันก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้ทำรายการภาษาไทยน่ารู้กับครูลิลลี่” ดังไปทั่วโลก ได้รางวัลเมขลา ช่อง 5 ก็มาเชิญไปสอนต่างประเทศ สอนครูภาษาไทยที่นั่นที่เขาสอนที่สมาคมครูไทย มีชื่อเสียง ได้เป็นนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ศิษย์เก่าดีเด่นของอ้สสัมชัญ ระยอง”

ผลงานและความภูมิใจของ “ครูลิลลี่” นอกเหนือจากการสอนที่โรงเรียนกวดวิชา

“พอเริ่มดังก็เริ่มมีคนชวนไปเล่นละคร เราไม่เอา ไม่อยากเล่นเป็นตัวอื่นที่ไม่ใช่เรา เป็นพิธีกรรายการ “ยอดคนตะลุยฝุ่น” เคยได้ทำทอล์คโชว์ “อัศจรรย์ (การันตี) ลิลลี่โชว์” หนังสือก็เขียนเยอะ ทุกอย่างลองทำมาหมดแล้ว มีความสุขที่สุดคือ สอนหนังสือ ที่ภูมิใจมากคือ ก่อนหน้าที่จะไปออกตีสิบ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ท่านคัดเลือกเราให้ไปสอนโครงการโรงเรียนไกลกังวล เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต ตอนนั้นไปที่หัวหินเลย รายการตีสิบก็ให้เราเป็นครูตัวอย่าง เดี๋ยวนี้ก็ยังสอน แต่เป็นการส่งเทปไป”

ถึงเวลาสร้างฝันให้คนรุ่นต่อไป

“วันนี้เราเป็นผู้ให้แล้ว อะไรที่คืนสังคมได้เราให้หมด ต้องสร้างฝันให้คนอื่นบ้าง ชีวิตตอนนี้เป็นโค้งสุดท้ายแล้ว ชักจะกระโดดโลดเต้นไม่ไหว เวลานี้สอนเด็กที่อยากไปเป็นครูภาษาไทย ทำมา 4-5 ปีแล้ว เรามีสูตรของเรา เราจะถ่ายทอดให้หมด ไม่อย่างนั้นมันก็จะตายไปกับตัวเรา แล้วก็ไปสอนคนในคุก ไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักโทษหญิงเรือนจำบางขวางพวกผู้คุมเขาเปิดดูเฟสบุ๊กของเราแล้ว คิดว่าน่าจะมาสอนคนคุก(หัวเราะ) ไม่เคยมีวิทยากรคนไหนมาแล้วจะสนุกเท่านี้ เราไปสร้างความสุขให้เขา เริ่มมาทางสายนี้แล้ว เป็นการเปิดโลกของครูด้วย นี่คือบั้นปลายของชีวิต”

แบบอย่างที่ฝากไว้

“เป็นคนสู้ไม่ยอมถอย สู้ด้วยการกระทำ เอาคือเอา ไม่เอาคือไม่เอา ถ้าจะลงสนามแข่ง ต้องเอาชนะให้ได้ เต็มที่ให้ถึงที่สุด จุดแข็งมาจากสิ่งที่เราขาด และการโดนดูถูกเรื่องเพศสภาพ ยิ่งโดนดูถูกยิ่งต้องแสดงให้เห็น … ถ้าเกิดมาพร้อม สวย หล่อ มีเงิน คงเดินมาไม่ถึงวันนี้ และต้องขอบคุณพ่อแม่ที่ให้การศึกษา เปิดโอกาสให้เราใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่เคยดุว่า เขาให้เราเลือกเอง ให้กำลังใจตลอด เอาเราไปคุยทั้งซอย ขอบคุณโรงเรียนเตรียมอุดมที่เป็นใบเบิกทาง พระเกี้ยวทำให้เด็กทุกคนฟังเรา เรามีอาภรณ์ที่สวยงามคือ การศึกษา ต้องไม่ทำให้ชื่อเสียงโรงเรียนเสียหาย และพอยิ่งมานิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตอกตะปูเลย การันตี เราอยู่ในกล่องของขวัญ เป็นของขวัญที่สวยงาม”

_______________________________________________________________________________________________________

ทบทวนจากงานเขียน “9 ความฝัน 9 ความสำเร็จ” ใน หนังสือที่ระลึกงานคืนสู่เหย้าปี 2562  ซึ่งจัดทำโดย สนตอ. 2561-2562. หน้า 56-58 (วลีทิพย์ โรจนาลักษณ์ (เตรียมอุดม 43), ผู้ทบทวน, 2566).