“ข้าขอประณตน้อม สักการ บูรพคณาจารย์….”

สำหรับนักเรียนทุกคน แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักคำไหว้ครูบทนี้ เพราะท่องจำขึ้นใจ และเปล่งเสียงพร้อมกันในพิธีไหว้ครูทุกๆ ปีในโรงเรียน  แม้จบการศึกษากันไปนานแล้วก็ยังท่องจำกันได้ดีเลยทีเดียว

แต่รู้ไหมว่าประเพณีไหว้ครูแบบที่แพร่หลายตามโรงเรียนต่างๆ ในปัจจุบันนั้น เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของเรานี่เอง !

โดยเมื่อปี 2482 ฯพณฯ ศ. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ริเริ่มเพื่อฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้น ส่วนคำไหว้ครูแต่เดิมนั้นประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บิดาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ต่อมาในปี 2485 นายประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ (จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ) เห็นว่าคำไหว้ครูเดิมนั้นยาวเกินไปและไม่ทันสมัย จึงขอให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หาผู้แต่งขึ้นใหม่

ในขณะนั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง เป็นทั้งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมสามัญศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  ครั้งแรกท่านได้ให้อาจารย์ภาษาไทยในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแต่ง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงวานให้ภริยา ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ช่วยแต่ง

ผลคือคำไหว้ครูที่ท่านผู้หญิงแต่งเป็นที่พอใจของรัฐมนตรีช่วย แต่รัฐมนตรีไม่ทราบว่าใครแต่ง เพราะท่านผู้หญิงสั่งสามีว่าไม่ให้บอกว่าใครแต่ง จึงได้แต่บันทึกขอบคุณไว้ว่า “คำไหว้ครูนี้ใช้ได้ดี ขอขอบคุณผู้แต่งซึ่งไม่ทราบว่าผู้ใด”

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล เล่าไว้ว่าการแต่งคำไหว้ครูนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเธอ

“พอฉันประสาทดีพอแต่งหนังสือได้เสียครั้งหนึ่งแล้ว สติสัมปชัญญะก็เริ่มจะกลับมาใหม่ ฉันแปลบทมหาอุปรากรเรื่อง เฟ้าสต์ เป็นคำประพันธ์เรื่องแรกภายหลังการป่วยหนัก ต่อจากนั้นก็แปลเรื่อง มาดาม บัตเตอร์ฟลาย รัตนาวลี และอื่นๆ ติดต่อกันไปหลายเรื่อง เพราะฉันชอบการเขียนหนังสือ เคยมีหนังสือพิมพ์รายวัน วิจารณ์หนังสือของฉัน ซึ่งไม่ได้นำออกขายว่า ฉันเป็นเพชรเม็ดหนึ่งในวงการประพันธ์ แต่เป็นผู้ที่ไม่ต้องห่วงหม้อข้าว จึงไม่มีการขายหนังสือของฉันในตลาดหนังสือ” (จากหนังสือ “เรื่องของคนห้าแผ่นดิน”)

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล

คำไหว้ครูต้นฉบับที่ท่านผู้หญิงดุษฏีมาลา ประพันธ์ไว้ในปี 2485 และเริ่มใช้ครั้งแรกในพิธีไหว้ครูของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาประจำปีนั้น คือ

“ข้าขอประณตน้อม สักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอปร์เกิดประโยชน์ศึกษา

ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน

ข้าขอเคารพ อภิวันทน์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา

ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี

ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ”

ในหนังสือ “หกสิบปี ต.อ. 14” นิรมล ตีรณสาร สวัสดิบุตร ศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 14 ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำไหว้ครูในระยะหลังๆ ที่ผิดไปจากบทดั้งเดิมว่ามีอยู่สี่จุด

  1. ข้า หมายถึงสรรพนามบุรุษที่ 1 ไม่ใช่ ข้าฯ ซึ่งเป็นคำย่อจาก ข้าพเจ้า

  2. กอปร์ หมายถึง ประกอบ ไม่ใช่ ก่อ หมายถึงครูเป็นผู้ประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษา ส่วน ก่อ นั้นแปลว่า ทำให้เกิด

  3. อภิวันทน์ มาจาก อภิ = ยิ่ง วันทน = การไหว้ การเคารพ รวมคือ การไหว้อย่างนอบน้อมยิ่ง ขณะที่ในพจนานุกรมมีคำว่า อภิวันท์ แปลว่า กราบไหว้ เฉยๆ

  4. ประโยชน์ทวี แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ ไม่ใช่ ประโยชน์แก่ข้าฯ และประเทศไทยเทอญ ที่ใช้ผิดกันอยู่หลายโรงเรียน ซึ่ง “ชาติ” ให้ความหมายถึงประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ หมายถึงส่วนร่วม จึงมีความหมายดีกว่า ข้าฯ ที่เน้นประโยชน์ตนเอง


อ้างอิง : หนังสือ “หกสิบปี ต.อ. 14 ชีวิตนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อกว่า 60 ปี” จัดพิมพ์โดย ชมรม ต.อ. 14 พ.ศ. 2556 บรรณาธิการ : รองศาสตราจารย์นิรมล ตีรณสาร สวัสดิบุตร
และ https://www.facebook.com/sarakadeemag/posts/2740063812889718/
เรียบเรียงโดย สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ