สยามณัฐ พนัสสรณ์ หรือ เบียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน-อัพ รีไซคลิงจำกัด ได้กล่าวถึง สิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่ออยู่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ซึ่งมีทั้ง เรื่องการสร้างนิสัยกับแนวทางในการเรียนรู้ และ เรื่องทัศนคติกับทักษะการปรับตัวในการทำงาน

 เรื่องการสร้างนิสัยและแนวทางในการเรียนรู้ พอสรุปได้เป็น ๒ หัวข้อหลักๆ

 “ประการแรก คือความกระตือรือร้นและดิ้นรนในการพัฒนาตนเอง”

เบียร์เป็นลูกครูสอนภาษาไทยของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ (อาจารย์ยศ พนัสสรณ์) จึงมีโอกาสฟังเรื่องราวต่างๆ มากมายจากพ่อตั้งแต่ยังเด็ก

“คุณพ่อเคยบอกผมว่า เด็กเก่ง 80% จะช่วยเข็นและกระตุ้น เด็กที่ไม่ค่อยเก่ง 20% ที่เหลือ ให้พัฒนาตัวเองจนเก่งขึ้นเป็นระดับหัวกะทิของประเทศได้   แต่พอผมเข้าไปเรียนจริงๆ ผมพบว่าคุณพ่อหลอกผมนี่นา อันที่จริงมันควรจะเป็นเด็กเก่ง 95% เข็น 5% ที่เหลืออย่างผม ให้พอถูไถไปได้”

ด้วยสภาพแวดล้อมของเพื่อนนักเรียนที่เก่งๆ กับคณาจารย์ที่เอาใจใส่ โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้หล่อหลอมให้เบียร์เป็นผู้ที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

“โรงเรียนสอนให้ผมรู้ว่า ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นตลอดเวลา เสมือนการพายเรือทวนน้ำ ถ้าหยุดพายเท่ากับการกระจัดของเราถอยหลังแล้ว   ตอนโตขึ้นมา ผมได้ยินทฤษฎีที่ว่าเราคือค่าเฉลี่ย ของคน 5 คนที่ใกล้ตัวเราที่สุด วันนี้ผมพูดได้เต็มปาก ว่า ค่าเฉลี่ยลำดับสูงของเพื่อนๆ และคณาจารย์รอบๆตัวผมใน 3 ปี ที่เตรียมอุดม ช่วยดึงผมขึ้นมาและทำให้ผมมีวันนี้ครับ

ประการต่อมา คือ เรื่องกระบวนการคิด ผมพัฒนาตรรกกะ เหตุและผล และความคิดเชิงระบบเป็นอย่างมาก

ซึ่งนั่นคือพื้นฐานที่มั่นคงที่ทำให้ผมได้ต่อยอดไปเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น87(วศ.46) ได้ง่ายขึ้น”

โรงเรียนเตรียมอุดมปลูกฝังให้เบียร์ ทั้งด้านจิตใจและสติปํญญาในการที่จะศึกษาให้เข้าใจอย่างแท้จริง

“ผมพบว่าผมไม่ได้มีความคิดเพียงแค่จะทำข้อสอบให้ผ่านและได้เกรดดีๆ ซึ่งนั่นควรจะเป็นเป้าหมายอันน่าพึงพอใจของนักเรียนในวัยนั้น  หากแต่ผมมี แรงบันดาลใจอันแก่กล้าที่อยากจะเข้าใจ อยากจะศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างถ่องแท้

ขอยกตัวอย่างนะครับ เช่น การทำโจทย์คณิตศาสตร์ยากๆ หนึ่งข้อ ที่โรงเรียนกวดวิชาทั้งหลายมักจะสอนสูตรลัด ให้เรา ‘ท่องวิธีไปทำข้อสอบได้ ’ จากนั้นก็ได้คะแนน กลับบ้านไปง่ายๆ  แต่สังคมรอบตัวผมที่โรงเรียน สอนผมว่าผมไม่ควรพอใจในวิธีการดังกล่าว ซึ่งมันกลวง และไม่ยั่งยืน แต่สิ่งที่ผมควรทำ คือพิสูจน์หาต้นตอ และ reverse engineering กลับไปเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของสูตรลัดนั้น และวิทยายุทธที่ลึกล้ำที่สุดคือ เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็ควรพัฒนาสูตรลัด หรือกระบวนการอะไรบางอย่างของตัวเอง

วันนี้ผมเข้าใจว่าตัวเนื้อหาวิชาเคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือแม้แต่ สังคม ภาษาไทย ตัวเนื้อหาจริงๆ มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรตรงตัวมากมายเมื่อเราโตขึ้นหรอกครับ คุณจะไปสนทำไม ว่าไฟลัมไหนมีอะไรบ้าง ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักชีววิทยาตัวเป้ง แต่สิ่งที่มันสอนเราวันนั้น คือกระบวนการคิด วิเคราะห์ครับ”

เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา  เพราะสังคมและเพื่อนรอบๆ ตัว สอนให้ผมเป็นแบบนี้”

ส่วนเรื่องทัศนคติกับทักษะที่ได้นำมาปรับใช้ในการทำงาน

เบียร์มีความเชื่อเสมอว่า ทัศนคติ คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะนำพาเราให้ประสบความสำเร็จ

“พอเติบโตในหน้าที่การงาน ยิ่งเปลี่ยนสภาพมาเป็นเจ้าของกิจการ ความรับผิดชอบมากขึ้น มันก็ต้องมี skills set ที่มากขึ้น … สิ่งที่เตรียมอุดมสอนผมในวันนั้น คือ ทัศนคติที่อยากเอาชนะ แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว เราไม่ชนะ เราก็จะลุกขึ้นมาใหม่ ปรับปรุงตัวเองและเอาชนะในวันต่อไป

การทำธุรกิจของผมในวันนี้ ก็มีหลักการเดียวกันครับ ผมเป็น very small SME    และ  เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในอุตสาหกรรม รีไซเคิล solvent มันก็มีความล้มลุกคลุกคลานในช่วงแรกอยู่แล้ว แต่กำลังใจและทัศนคติที่ดี ทำให้เราฝ่าฟันอุปสรรคขึ้นมาจนอยู่รอดได้ครับ  (พูดถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึงตอนสอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องไปสอบซ่อมที่โรงอาหารใหญ่นะครับ ฮาๆ)”

กิจการงานที่เบียร์ทำอยู่นั้น เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“กลับมาที่เรื่องการทำงาน ผมจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะครับ ตอนที่ตั้งบริษัทขึ้นมาทีแรกนั้น หาลูกค้ายากมาก เพราะเมื่อพูดถึงรีไซเคิล ทุกคนนึกถึงแต่การรีไซเคิลขวดพลาสติก แต่ที่ผมทำคือ solvent (ตัวทำละลายที่ใช้งานล้าง ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น   ทินเนอร์ น้ำมันก๊าด อะซีโตน เป็นต้น) กว่าจะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ  ว่าผมกลั่น สาร solvent นี้ ให้กลับมาได้ความบริสุทธิ์เท่าเดิม โรงงานซื้อกลับไปในราคาประหยัด  และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดcarbon footprint อีก  เพราะผมทำในสิ่งที่ไม่มีคนอื่นทำน่ะครับ  ผมถึงต้องใช้ความดันทุรังในการอธิบายสูงมาก

วันนี้ โรงกลั่นซัน-อัพ รีไซคลิง ดำเนินธุรกิจมาได้ 2.5 ปีแล้ว  เรารีไซเคิล solvent ไปแล้วกว่า 10,000 ตัน   ผมบอกพนักงานของผมเสมอว่า เราจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้มี attitude ที่ดี และเป็นโชคดีของผม ที่ผมถูกสอนมาเยอะ ตั้งแต่ที่เตรียมอุดมครับ  ขอบพระคุณโรงเรียน คณาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์สุทัศน์ ไตรสถิตวร ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณสูงสุด เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สอนให้ผมมีวันนี้ครับ   หากมีสิ่งใดที่ผมจะตอบแทนโรงเรียนได้ ติดต่อผมได้เสมอครับ ที่ 0623925155 ครับ”

ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่นักเรียนเก่าเตรียมอุดม ผู้เลือกประกอบกิจการงานที่ยากแต่ทรงคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมโลก ได้ฝากไว้ในคำสัมภาษณ์

——————————————————————————————————————————————————————————————————

เรียบเรียงจาก บทสัมภาษณ์คุณสยามณัฐ พนัสสรณ์. สัมภาษณ์โดย ปิยนาถ มณีรัตนายล (เตรียมอุดม 44) เดือนพฤษภาคม ปี 2566. (วลีทิพย์ โรจนาลักษณ์ (เตรียมอุดม 43), ผู้เรียบเรียง).