วรพงศ์ (โอ๋) เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังเด็กจนจบชั้น ม.๓ ที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสตียน จากนั้น จึงสอบเข้าเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ

“ก่อนจะเข้าเตรียมอุดมตอนนั้น ตื่นเต้นมากเพราะว่าเตรียมอุดมเป็นเหมือนสุดยอดของโรงเรียนมัธยมปลาย ในช่วงเวลานั้นการสอบเข้าที่นี่ได้เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กมอสามที่จะเข้ามหาวิทยาลัยต่อครับ

ด้วยความที่พื้นเพผมเป็นเด็กต่างจังหวัดแต่มาเรียนในกรุงเทพช่วงเด็กเด็ก การสอบเข้าเตรียมอุดมได้ทำให้ครอบครัวและคุณพ่อคุณแม่มีความตื่นเต้นดีใจมาก วันที่ผมสอบได้คนทั้งอำเภอรู้ว่าผมสอบได้”

ที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ นักเรียนส่วนใหญ่คือเด็กเก่งจากทั่วประเทศซึ่งต่างก็เอาจริงเอาจังกับการศึกษาเรียนรู้ จึงพาให้นักเรียนในโรงเรียนนี้ โดยรวมทั้งหมดพลอยตั้งใจเรียนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนไปด้วย

“การได้มีโอกาสศึกษาในสถานที่ที่มีบุคคลที่ใฝ่การศึกษาและใฝ่การเรียนรู้ทำให้เราต้องมีความขยันหมั่นเพียรมากขึ้นกว่าปกติ เพราะสิ่งแวดล้อมสร้างให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นช่วยเราให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้นครับ”

ในอีกด้านหนึ่ง โรงเรียนได้ให้นักเรียนมีโอกาสทำกิจกรรมด้วย

“ผมเรียนสายศิลป์-คำนวณ เตรียมอุดมรุ่น 46 รุ่นเราเป็นรุ่นที่มีกิจกรรมข้ามตึกบ่อยและผมได้มีโอกาสทำกิจกรรมกับตึกอื่นมากพอสมควร เวลาไปเรียนที่มหาวิทยาลัย จึงทำให้มีเครือข่ายที่มาจาก เตรียมอุดมเยอะ

นักเรียนเตรียมอุดมในช่วงประมาณมอสี่ถึงมอหกทุกสาขาทุกภาคเรียนได้เติบโตไปอยู่ในมหาวิทยาลัยในหลายสาขา ทำให้เราได้รู้จักกับเพื่อนเพื่อนที่อยู่ในหลากหลายวิชาชีพ บางคนเรียนวิศวะบางคนเรียนครุศาสตร์บางคนเรียนสถาปัตย์แต่บางคนเรียนอักษรศาสตร์บางคนเรียนบัญชีแต่ทุกคนมาจากเตรียมอุดมทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายและมีความเชื่อมั่นในกันและกันเพื่อที่จะร่วมทำงานกัน”

นอกจากนั้น การเรียนการสอนที่ลึกซึ้งครอบคลุมเพื่อให้นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทำให้สามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ต่อไปได้

“ต้องยอมรับว่าในสังคมโรงเรียนเตรียม ในช่วงเวลาที่เราอยู่นั้นมีความโดดเด่นเรื่องวิชาการค่อนข้างมาก เป็นการบ่มเพาะให้ทุกคนต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการอ่านหนังสือทำข้อสอบและมีวินัยเพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำคะแนนได้ดี และปลูกฝังนิสัยให้ผมต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา”

เมื่อจบจากเตรียมอุดม โอ๋สอบเข้าเรียนต่อได้ที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนที่ร่ำเรียนมาทั้งในการประกอบอาชีพและทำประโยชน์ให้สังคม

“เมื่อผมมาทำกาแฟ echo taste ผมก็ได้ศึกษาเรื่องของการปลูกกาแฟการแปรรูปกาแฟและการทำให้กาแฟมีรสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น”

สิ่งหนึ่งที่โอ๋ไม่เคยลืม นั่นคือคำขวัญของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ซึ่งยังคงอยู่ในใจ และเป็นธงนำทางในการใช้ชีวิตการทำงาน

ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา

(ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายแห่งคนดี)

 “…และผมได้ยึดหลักคำขวัญของโรงเรียนที่ติดไว้หน้าตึกหนึ่งตลอดมาคือ ‘นิมิตตังสาธุรูปานังกตัญญูกตเวทิตา’ นั่นหมายถึง ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี…ซึ่งเป็นธงนำทางให้ผมในการดำเนินการไม่ว่าจะอยู่ในสถานะของลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการตลอดมาครับ โดยเฉพาะในบริบทที่ผมทำกาแฟสร้างป่า กาแฟ  echo taste เป็นสิ่งที่ผมต้องการที่จะนำเสนอเรื่องของการตอบแทนสังคมโดยการทำให้สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้ของเราดีขึ้น ซึ่งกาแฟเป็นพืชผลเศรษฐกิจที่อยู่ในป่า ชาวบ้านปลูกกาแฟในป่า ชาวบ้านจะไม่ตัดไม้ทำลายป่าครับ”

โอ๋ได้เล่าให้ฟังเรื่องความเป็นมาที่เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องและทำให้เกิด Echo Taste Coffee

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 หนึ่ง วิทิตนันท์ โรจนพานิช โทรศัพท์จากเชียงรายมาหาโอ๋ บอกว่า

“โอ๋ มึงต้องขึ้นมาช่วยชาวบ้านที่เค้าปลูกกาแฟในป่าบนดอย เค้าจะได้ช่วยดูแลป่าต้นน้ำ”

ถ้อยคำของ หนึ่ง เป็นดั่งเสียงแว่วจากป่าต้นน้ำ ที่นำพาให้ โอ๋ วรพงศ์ ขึ้นดอยเข้าป่าที่เชียงรายในเดือนธันวาคม ปี 2562

“ผมบอกตกลงทันที โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง แต่ผมรู้ชัดเจนที่สุด อย่างนึง คือเพื่อนหนึ่ง คิดแต่จะทำเพื่อส่วนรวมทุกโครงการที่ผ่านมา ดังนั้น ไม่ว่าเค้าจะมาขอร้องเรื่องใดๆ ผมจะทำโดยที่ไม่ต้องกังวลเพราะผมรู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นอย่างแน่นอน”

ที่นั่น โอ๋ได้รู้จักกับมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์เชียงราย หน่วยงานเล็กๆ ที่มีปณิธานมุ่งมั่นในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้านที่ปลูกกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง

ณ บ้านแม่หางหลวง แห่งนี้ โอ๋ ได้อยู่ท่ามกลางป่าเขาที่สมบูรณ์ และได้สัมผัสวิถีชีวิตที่สงบสุขของชาวบ้าน

เพื่อนหนึ่ง ผู้มีความห่วงใยอนาคตของผู้คนและป่าแห่งนี้ บอกกับเขาว่า

“เด็กๆ ที่นี่โตมาก็ต้องลงไปหางานทำในเมือง แล้วก็กลายเป็นคนเมืองมีครอบครัวที่นั่นก็ไม่ได้อยากกลับมา เพราะไม่มีงานที่นี่ทำ ไม่มีรายได้ อีกหน่อยก็ไม่มีใครดูแลป่านี้ แล้วลูกหลานพวกเราจะอยู่อย่างไร”

การเดินสำรวจป่าเริ่มในวันรุ่งขึ้น โอ๋กับหนึ่งอธิษฐานขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในป่า ให้พวกเขาสามารถทำประโยชน์กับส่วนรวม เพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้าน โดยสร้างธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟ

“ผมเป็นนักการตลาด ผมเป็นนักขาย สิ่งที่ผมจะช่วยทำได้ก็คือการสร้างแบรนด์โดยการนำกาแฟดีๆ ที่ชาวบ้านผลิตเอามาพัฒนาและขายสินค้าให้ได้ราคาเพื่อให้ระบบสามารถดำรงอยู่ได้”

“ผมกับหนึ่ง ได้ตั้งชื่อ แบรนด์กาแฟว่า Echo Taste ความหมาย คือ เสียงแว่วจากป่าต้นน้ำ โดยความช่วยเหลือ จาก หนุ่ม ชัชวาล ปุกหุต เจ้าของบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ที่มีทีมงานหลากหลายความสามารถมารวมกันได้แก่  Jern Pannipa ชมพู่ นิตตะโย  ในการออกแบบ รูปลักษณ์ และหีบห่อต่างๆ ทุกคนทำงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

เดือน สิงหาคม 2563 echo taste coffee  ได้เริ่มขาย ให้ผู้บริโภคผ่าน online โดยมี เมล็ดกาแฟ honey และ dry process คั่วกลาง เป็นพระเอก ด้านรสชาติ ความหวานหอม ธรรมชาติ

ทุกคนที่ได้ซื้อไป ผ่านระบบขอร้องและบังคับให้ซื้อ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติดีมาก ดีกว่ายี่ห้อดังๆ หลายช่วงตัว ดังนั้นภารกิจการสร้างแบรนด์จึงเป็นภารกิจหลักในการที่จะให้ผู้บริโภคได้ชิมได้ทดลองและเชื่อมั่น

เดือน พฤษภาคม 2564 หนุ่ม ได้แนะนำ น้องอีก 2 คนคือ ต่อ (เติมพงศ์ อยู่วิทยา) และ แจ๊กกี้ จักรพงษ์ เพื่อจะมาช่วยต่อยอดในเรื่องราว ของ echo taste ที่ เราทั้ง 3 คนทำอยู่ และ ทำให้เกิด echo taste love series ที่ทำให้ผู้บริโภค เข้าถึงง่ายมากขึ้นอีก”

(echo taste love series เป็นหนังโฆษณาที่ใช้ความรักเป็นตัวสื่อผ่านการดื่มกาแฟดีๆ ด้วยความเชื่อว่าความรักความจริงใจ เป็นตัวเชื่อมที่ดีที่สุด ภาษารักเป็นภาษาที่เข้าใจได้ลึกซึ้งที่สุด)

นั่นก็คือ สิ่งที่โอ๋ วรพงศ์ นักเรียนเก่าเตรียมอุดมผู้มีคำขวัญของโรงเรียนเป็นธงนำทาง ได้มีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในการช่วยเหลือชาวบ้าน และธำรงรักษาป่าต้นน้ำของประเทศไทย

_________________________________________________________________________________________________________

บทสัมภาษณ์คุณวรพงศ์ เกียรติดำรงวงศ์. พฤษภาคม 2566. ปิยนาถ มณีรัตนายล (เตรียมอุดม 44) สัมภาษณ์. วลีทิพย์ โรจนาลักษณ์ (เตรียมอุดม 43) เรียบเรียง.