ทำไมต้องมาสัมภาษณ์ครูด้วยล่ะ นี่เป็นประโยคแรกที่อาจารย์เอ่ยถามเมื่อทางเราติดต่ออาจารย์ไป

เมื่อเราเอ่ยชื่อ อาจารย์นิคม วงศ์วานิช เชื่อได้ว่าศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อของอาจารย์ บางคนอาจถึงขั้นเคยถูกอาจารย์เรียกพบมาแล้วด้วยซ้ำจากวีรกรรมต่าง ๆ สมัยเป็นนักเรียนในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

เราได้รับเกียรติจากอาจารย์นิคม มาเล่าเรื่องราวสมัยครั้งยังเป็นนักเรียนหนุ่มน้อย นิคม วงศ์วานิช ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

 

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2495 หลังจากจบม.6 จากโรงเรียนประจำจังหวัด ที่ไม่มีชั้นเรียนต่อ ทำให้การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นเพียงทางเลือกเดียวในการเรียนต่อ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ครอบครัวมีกำลังส่งให้เรียนต่อและมีเป้าหมายอยู่แล้ว เมื่อสอบไล่ชั้น ม.6 เสร็จก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทันที แต่ตัวอาจารย์เองเดินทางเข้ามาเกือบคนสุดท้ายของกลุ่ม เพราะไม่ทราบว่าจะมาเรียนต่อด้านไหน ตั้งความหวังอยากจะเรียนที่เพาะช่างแต่ทางบ้านก็ไม่สนับสนุน และในกรุงเทพฯ ก็ไม่มีญาติแท้ ๆ ทำให้เตี่ยต้องฝากให้ไปอยู่วัดกับพระแถวบ้านที่ท่านมาเรียนบาลี ที่สำคัญคือไม่เคยรู้มาก่อนว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” เป็นโรงเรียนประเภทไหน ได้ยินมาแต่ชื่อที่เรียกต่อ ๆ กันว่า “เตรียมจุฬาฯ” โดยไม่รู้ว่าเป็นโรงเรียนเดียวกัน ด้วยความที่อยากเรียนด้านการออกแบบก่อสร้าง  จึงสมัครสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนอุเทนถวาย โดยไม่รู้ว่าโรงเรียนที่อยู่ติดกันคือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือเตรียมจุฬาฯ ในอดีต เพราะไม่มีป้ายบอก มีแต่ป้ายชื่อ “โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมาได้รับคำแนะนำจากลูกพี่ลูกน้องที่มาเรียนก่อน ให้สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่เป็นโรงเรียนในฝันของนักเรียนหลาย ๆ คน เพราะเชื่อว่าถ้าได้เรียนโรงเรียนนี้แล้ว การเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีความเป็นไปได้สูง จึงเบนเข็มมาเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ อาจารย์ใช้เวลาหาโรงเรียนถึง 3 วัน เพราะความที่โไม่มีป้ายชื่อโรงเรียนนั่นเอง ต้องอาศัยถามตำรวจบ้าง กระเป๋ารถเมล์บ้าง กว่าจะได้สมัครก็เป็นวันสุดท้ายพอดี เลยต้องไปสอบไกลถึงโรงเรียนพาณิชย์การพระนคร ถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร) ปรากฏว่าในปีที่อาจารย์สอบนั้น เพื่อนจากโรงเรียนเดียวกันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถสอบเข้าได้ถึง 11 คน นับว่าเป็นรุ่นที่สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

อาจารย์เล่าว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในสมัยนั้น มีแต่นักเรียนหัวกะทิจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจำนวนหลายพันคนมาสมัครสอบ การสอบเข้ามีการแข่งขันสูง เพราะโรงเรียน รับนักเรียนได้แค่ 700 – 800 กว่าคนเท่านั้น การสอบสมัยนั้นใช้เวลาสอบถึง 2 วัน มีทั้งหมด 5 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ทุกวิชาเป็นข้อสอบแบบอัตนัยทั้งหมด และแยกข้อสอบตามแผนการเรียน เช่น แผนกอักษรศาสตร์จะสอบวิชาภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ ในขณะที่แผนกวิทยาศาสตร์จะสอบภาษาอังกฤษแค่ฉบับเดียว

ถามถึงวิชาสอบเข้าที่ทำให้อาจารย์ยิ้มได้มากที่สุด อาจารย์ตอบว่าคือ วิชาสังคมศึกษา เพราะความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดและโตมาในวัด ข้อสอบเข้าวิชาสังคมศึกษาในสมัยก่อนรวมไปถึงปีที่อาจารย์สอบนั้นออกเป็นบทสวดมนต์ ซึ่งถือได้ว่าข้อสอบเข้าทางอาจารย์เป็นอย่างมาก

 

ในทางกลับกัน วิชาที่ทำให้อาจารย์ใจหายใจคว่ำมากที่สุดก็ไม่พ้นวิชาภาษาอังกฤษ ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดนี่เองที่ทำให้อาจารย์ไม่ค่อยจะญาติดีกับภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่ ข้อสอบภาษาอังกฤษจะออกโจทย์ให้ผู้สอบต้องแปลไทยเป็นอังกฤษ และอังกฤษเป็นไทย แถมยังให้เขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ (Essay) ด้วย เมื่อรู้แนวทางข้อสอบแล้ว อาจารย์ก็เลยใช้วิธีท่องจำให้มากที่สุด แม้กระทั่งการเขียนเรียงความ ก็อาศัยเลือกหัวข้อที่คิดว่ามีแนวโน้มจะออกสอบมากที่สุดและท่องจำไปถึง 10 หัวข้อ ตอนนั้นเรื่องที่อาจารย์ท่องจำคือ My Native Town ในขณะที่โจทย์ข้อสอบให้เขียนเรียงความในหัวข้อ My School ถือได้ว่าโชคดีไปเพราะหัวข้อเรื่องไม่ต่างกันนัก

ประเพณีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก

อาจารย์นิคมเข้ามาเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในสมัยที่อาจารย์สงวน เล็กสกุล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ในยุคนั้น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีบรรยากาศและวัฒนธรรมในโรงเรียนที่น่าประทับใจและจดจำอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งที่อาจารย์จำได้อย่างแม่นยำคือ “กิจกรรมวันไหว้ครู”*

สมัยนั้นวันไหว้ครูจะจัดหลังจากเปิดเทอมได้ไม่นาน วันเปิดเทอมคือวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีพร้อมกับการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นนับเป็นโรงเรียนแรกที่ริเริ่มประเพณีวันไหว้ครูขึ้นอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดี (การไหว้ครูนั้นมีมาแต่โบราณ แต่ละอาชีพก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ครูช่าง ครูโขน ครูละคร ครูมวย เป็นต้น) ซึ่งในพิธีไหว้ครูมีการแจกรางวัลหลายประเภท รวมทั้งนักเรียนเรียนดี และนักกีฬาดีเด่น  นักเรียนที่ทำคุณประโยชน์อื่น ๆ ให้แก่โรงเรียน สังคมและประเทศชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างนักเรียนที่ดี และเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนใหม่ตั้งใจเรียน

อาจารย์เล่าว่าสมัยนั้นมีเรื่องที่จำได้ดี คือ การที่โรงเรียนมีรางวัลกระตุ้นให้นักเรียนมาโรงเรียน ถ้าห้องเรียนไหนไม่มีนักเรียนขาดเรียนหรือมาสายเลยจะได้โล่ติดที่หน้าห้องเรียน และถ้าได้รับโล่ติดต่อกันมากที่สุดในปีนั้นๆ นักเรียนทุกคนในห้องนั้นก็จะได้รับรางวัลเป็น “เข็มพระเกี้ยวพิเศษ” ในวันไหว้ครู ทำให้นักเรียนทุกคนตั้งใจมาโรงเรียนให้ทันเวลาทุกวันเพื่อช่วยกันทำให้ห้องเรียนของพวกตนได้รับรางวัลพิเศษ อันเป็นที่ภาคภูมิใจของทุกคนในห้อง

อีกเรื่องที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประเพณีปฏิบัติประจำปีในวันไหว้ครูเลยก็ว่าได้ คือ หลังจากวันไหว้ครู โรงเรียนจะพานักเรียนไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง อาจารย์จำได้แม่นว่าดูเรื่อง “Singing In The Rain” หรือบางภาคเรียนอาจได้ไปดูละครที่กรมศิลป์​  และในสมัยนั้นโรงเรียนยังจัดทัศนศึกษาทุกปี ถ้าในกรุงเทพฯ​ โรงเรียนพาไปที่วัดโพธิ์ (สำหรับนักเรียนชั้น ม.7) และพระบรมมหาราชวัง (สำหรับนักเรียนชั้น ม.8) ถ้าเป็นต่างจังหวัดในปีนั้นไปจังหวัดสระบุรี เนื่องจากข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน จึงสามารถรับรองนักเรียนทั้งหมดได้ ซึ่งถือว่าไกลมากสำหรับเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

โรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกของไทย ยังแบ่งเขตชายหญิง

เมื่อถามอาจารย์ถึงเพื่อน ๆ สมัยเรียนรุ่นตอ.15 อาจารย์เล่าเพิ่มเติมให้ฟังว่า ด้วยความที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย การเรียนร่วมกันของนักเรียนชาย-หญิงนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่นัก โรงเรียนจึงมีมาตรการแบ่งแยกเขตนักเรียน กล่าวคือ ในตอนเช้าเมื่อมาถึงโรงเรียนแล้ว ครูเรียนที่ตึก 1 นักเรียนชายจะสามารถเข้าห้องเรียนได้เลย ในขณะที่นักเรียนหญิงต้องไปอยู่รวมกันที่ห้อง 44 ตึก 1 (นักเรียนตึก 2 และตึก 3 ก็แยกห้องพักเช่นกัน) จนกระทั่งมีสัญญาณให้เข้าเรียน จึงมาเข้าแถวรวมกันที่หน้าห้องเรียนได้ รวมไปถึงช่วงพักกลางวัน โรงอาหารก็จะแบ่งเขตซื้ออาหารชาย-หญิงกันคนละฝั่ง โดยมีนักเรียนฝึกหัดครูกั้นกลางอีกที อาจารย์เล่าว่าเคยคิดอยากลองข้ามไปซื้ออาหารทางฝั่งนักเรียนหญิงเหมือนกัน เนื่องจากเบื่ออาหารซ้ำ ๆ ของทางฝั่งนักเรียนชาย และอาหารของฝั่งนักเรียนหญิงดูน่ากินกว่ามาก

ชีวิตนักเรียนในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของเด็กหนุ่ม นิคม วงศ์วานิช รวมไปถึงการได้มีโอกาสกลับมาเป็นข้าราชการครู ประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอีกกว่า 30 ปีนั้นคือ คำตอบของคำถามแรกที่เราถามอาจารย์ เพราะเราเชื่อว่าอาจารย์เป็นบุคคลากรที่ทรงคุณค่ามากที่สุดท่านหนึ่งของโรงเรียน ประกอบกับความจำของอาจารย์ ทำให้เรานักเรียนรุ่นหลังมองเห็นภาพว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาย้อนไปเมื่อ 70 ปีก่อนนั้นเป็นอย่างไร

สุดท้ายนี้ อาจารย์นิคม ฝากมาว่า อยากเห็นนักเรียนเก่าและนักเรียนรุ่นปัจจุบัน ช่วยกันรักษาความเป็นเตรียมอุดมศึกษาไว้  และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของโรงเรียน แต่ถ้าสิ่งใดที่ดูล้าหลังก็ควรช่วยกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย และไม่ยกเลิกโดยไม่มีเหตุผลรองรับ

 

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565

บทสัมภาษณ์โดย – ภาพร (สุภัทรพันธุ์) คันติโต และสร้อยมุกข์ ยิ่งชัยยะกมล นักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 55