ผศ. นพ. มาศ ไม้ประเสริฐ

นักเรียนเก่าเตรียมอุดม รุ่นที่ 50

คุณหมอผู้บุกเบิกเวชศาสตร์ชะลอวัยในสถาบันศึกษาของไทย

 

ความใฝ่ฝันในวัยเด็ก

หมอมาศเริ่มใฝ่ฝันจะเป็นแพทย์จากประสบการณ์ในวัยเด็ก

“…ตอนเด็กๆ ผมป่วยบ่อย เลยอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก” แต่การจะเป็นหมอได้ เป็นที่เข้าใจกันดีว่า จะต้องได้เรียนระดับอุดมศึกษาในคณะแพทย์ฯ มันจึงเป็นเพียงความฝันที่สูงส่งของเด็กต่างจังหวัด จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับรู้ว่ารุ่นพี่โรงเรียนเดียวกัน ได้เข้าเรียนคณะแพทย์

“ตอนนั้นเรียนที่ระยองวิทยาคม เห็นรุ่นพี่ที่เขาสอบติดได้แพทย์จุฬาฯ โครงการแพทย์ชนบท มีเพียงแค่คนเดียวในรอบ 4-5 ปีนั้น เราก็คิดว่าถ้าเราอยู่ชั้น ม.6 เราจะมีโอกาสเป็นแบบเขาได้ไหม”

นั่นทำให้ความใฝ่ฝันเดินหน้าไปถึงความเป็นไปได้

 

ความพยายามในวัยมัธยมต้น

หลังจากนั้น เมื่อได้รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เด็กชายมาศก็ไม่รีรอที่จะพาตัวเองไปสู่เส้นทางที่มุ่งไปสู่ความฝัน

“ช่วงตอน ม.2 เคยสอบเทียบเข้า ม.3 และเห็นหนังสือกวดวิชาต่างๆ ก็มักจะเขียนแปะหน้าบ่อยๆ ว่า กวดเข้าเตรียมอุดม ผมไม่รู้จักเลยว่าโรงเรียนนี้ดีอย่างไร ไปถามครู ครูบอกว่าเด็กโรงเรียนนี้มักจะเอนทรานซ์ติดคณะดีๆ เป็นส่วนใหญ่ หลังสอบเทียบ ม.3 ผ่านแล้ว เลยลองมาสอบเข้าเตรียม ทั้งๆที่ไม่เคยรู้ว่าโรงเรียนนี้อยู่ที่ไหน และทราบจากน้าสาวเพียงว่า ให้ขึ้นรถเมล์สาย 93 ไป  ตอนนั้นสอบไม่ได้ ทำให้เรารู้ว่า ถึงแม้เราจะเก่งในย่านของเรา แต่ก็ยังมีคนที่เก่งกว่า จึงกลับมาเรียน ม.3 ตามเดิม”

ความพยายามในครั้งนั้นไม่สูญเปล่า เมื่อเรียนรู้จุดด้อยของตนจากการที่ได้ไปลองสอบคราวนั้น ก็นำมาหาทางปรับปรุงแก้ไข

“ตอนนั้นทำให้เราได้เรียนรู้จุดอ่อนของตัวเอง ไปขอเงินแม่ว่าอยากเรียนพิเศษวิชาอังกฤษและคณิตศาสตร์ แม่จบแค่ ป.4 ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ยอมให้เงินมา ตามใจเรา จนในที่สุดก็สอบผ่านได้ ตอนนั้นเป็นห้อง King 2”

การปรับตัวและการจัดการชีวิตในช่วงมัธยมปลาย

การสอบเข้าเตรียมอุดมฯได้ เป็นก้าวสำคัญที่จะไปสู่การเตรียมตัวสอบเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม ชีวิตในกรุงเทพฯ และในรั้วเตรียมอุดมต้องการการปรับตัวและพัฒนาตนเองทั้งด้านการจัดการชีวิตส่วนตัวและชีวิตการเรียน ให้เอื้ออำนวยต่อการศึกษาให้สำเร็จตามเป้าหมาย ท่ามกลางแสงสีของเมืองกรุง และสังคมของเพื่อนที่มีฐานะดีกว่า

“…ตอนนั้นมาอยู่บ้านน้าแถวย่านพระโขนง ซึ่งน้าคนนี้ก็เคยแนะนำแม่ว่าไม่อยากให้เรามาเรียนที่กรุงเทพฯ กลัวเราใจแตก แต่แม่คงไม่เชื่อ อาจจะเชื่อใจเรามากกว่า (หัวเราะ) ตอนนั้นต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า นั่งรถเมล์สองต่อจึงจะถึงโรงเรียน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องช่วยเขาทำความสะอาดบ้าน ทั้งต้องตั้งใจเรียน บางทีก็รู้สึกเหนี่อย พอขึ้น ม.๕ เลยขอแม่ว่า จะอยู่หอพักแถวโรงเรียน ก็ไปเดินหาเอง หอแรกไม่ค่อยดี หอที่สองแพงขึ้นมาหน่อยแต่สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีอบายมุข เลือกเองเลย แล้วให้แม่มาดู พยายามใช้เงินแม่ให้คุ้มค่าและปลอดภัยที่สุด”

“เพื่อนๆส่วนใหญ่มักอยู่กรุงเทพฯ มาจากโรงเรียนสาธิตนู่นนั่นนี่ มีพื้นฐานครอบครัวที่ดี บางคนเสาร์อาทิตย์เขาก็มีเรียนเปียโน แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราด้อยกว่าคนอื่น..”

 

พัฒนาการด้านการเรียนในช่วงเตรียมอุดมศึกษา

ความพยายามขวนขวายในการศึกษาของหมอมาศ ทำให้ผลการเรียนดีขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นสอบเทียบผ่านและสอบเข้าแพทย์ได้ในปีเดียวกันนั้น

“พอขึ้น ม.๕ ก็ได้ขยับมาอยู่ห้อง King 1  ตอนนี้ก็เริ่มสอบเทียบ ม.๖ เรียนกวดวิชา โดยไปกับเพื่อนที่เตรียมฯ แต่การเรียนที่เตรียมก็ไม่เสียนะ สอบได้ A ทุกวิชา มี B วิชาเดียว ปีนั้นลองสอบเอนทรานซ์ครั้งแรกก็ติดหมอจุฬาฯ พอสอบได้ ก็รู้สึกเลยว่าเราน่าจะเรียนจบเป็นหมอได้แน่ๆ”

 

การพัฒนาตนเองในวัยอุดมศึกษา

การพัฒนาตนเองของหมอมาศไม่ได้จบแค่เรื่องวิชาการ เขาใส่ใจในเรื่องบุคลิกภาพ จึงให้เวลากับการทำกิจกรรมมากด้วย ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ในขณะที่ยังรักษาระดับผลการเรียนที่เป็นเลิศไว้ได้จนจบ

“สิ่งที่ผมกังวลอีกเรื่องก็คือ บุคลิกภาพที่ไม่ดี เป็นคนขึ้อาย พูดไม่เก่ง ขี้กลัว ไม่กล้าแสดงออก ไม่สู้คน ตอนนั้นยังเคยคิดอยากไปเรียนสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพเลย พอเข้าหมอได้ ไม่มีเวลา ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำกิจกรรมตอนเรียนด้วย เพราะกิจกรรมน่าจะทำให้เราพัฒนาบุคลิกภาพของเราได้ดี เลยเป็นเด็กกิจกรรมของชั้นปี  เรียนจบหมอมานี่ ทำกิจกรรมเยอะมากเกือบ ๔๐ รายการ แต่ก็ยังเรียนได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ นะ ตอนจบมาเกรดเฉลี่ย 3.89 ห่าง 4.00 ไปนิดเดียว

การทำความเข้าใจบทเรียนและการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจให้เพื่อน

“จริงๆ แล้วที่ผมเรียนได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ มาไม่ใช่ว่าเก่งกว่าเพื่อนๆ แต่เป็นเพราะผมไม่ได้จีเนียสแบบจำเก่ง ตรงกันข้าม ความจำไม่ค่อยดี ต้องใช้วิธีทำความเข้าใจ แล้วจึงจะจำได้ อ่านหนังสือคืนเดียวแล้วสอบนี่ไม่มี ต้องอ่านล่วงหน้า เรียนเสร็จต้องรีบทำความเข้าใจเลย  กลัวไม่ทันตอนสอบ ทีนี้พอช่วงใกล้สอบเพื่อนๆอ่านกันไม่ทัน หรือไม่เข้าใจ เราก็อธิบายให้เพื่อนฟัง ติวเพื่อนบ้าง จำได้ว่าวิชาสุดโหด คือกายวิภาคที่ต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและท่องจำเยอะ เวลาเราติวให้เพื่อนๆ ก็จะได้กลุ่มละ ๕-๗ คนเท่านั้น  เพราะพื้นที่มันแคบ พอติวเสร็จเพื่อนที่มาทีหลังมองไม่เห็นหรือไม่ได้ฟังก็ขอให้ติวบ้าง ก็ทำซ้ำๆไปเรื่อยๆ สรุปคือ ติวเป็นรอบๆละ 30-40 นาที เกือบ 30 รอบ … แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การเสียสละหรือเริ่มต้นให้แก่ผู้อื่น…จริงๆ แล้วคนที่ได้รับมากที่สุดก็คือตัวเราด้วยเช่นกัน”

 

เมื่อต้องเจอกับโจทย์ที่ยากมากของชีวิต

ประมวลดูเส้นทางของหมอมาศตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเข้าเรียนแพทย์แล้ว จะเห็นถึงความสามารถทั้งในการเรียนและการจัดการตนเองให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเป็นขั้นๆ แต่ชะตาขีวิตซึ่งมนุษย์กำหนดไม่ได้ก็พาให้หมอมาศต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากมากในช่วงเวลาหนึ่ง

“ผมป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ B ตอนเรียนหมอปี 5 แต่ดันเป็นชนิดเรื้อรัง ตอนนั้นมีการรักษาโดยใช้ยาอินเตอร์เฟียรอน หลังฉีดเสร็จ ก็เป็นวัณโรคปอดผสมกันเข้าไปอีก ในตอนนั้น การรักษาทั้งสองเรื่องพร้อมๆ กัน มันมีปัญหาค่อนข้างมาก จนถึงขั้นที่อาจจะต้องตัดปอดเราทิ้งข้างหนึ่งด้วยซ้ำ การเจ็บป่วยครั้งนั้น ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความสำเร็จในชีวิตของเรา  เราสามารถควบคุมมันได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ ความขยัน มานะ อุตสาหะ และความพยายาม แต่อีกครึ่งหนึ่ง เราอาจควบคุมมันไม่ได้ อย่างเช่น โชคชะตา ฟ้าลิขิตเป็นต้น”

 

สิ่งที่ไม่ได้คาดหมาย แม้จะสร้างปัญหาอย่างมากแต่ก็ให้ข้อคิดและบทเรียนที่สำคัญสำหรับก้าวต่อไปของชีวิต

การป่วยหนักในครั้งนั้นเป็นโอกาสเรียนรู้ที่สำคัญของหมอมาศ

“ผมได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องอาหารเสริมการดูแลสุขภาพจากธุรกิจขายตรงหนึ่ง และนำความรู้นั้นมาใช้กับตนเองจนร่างกายแข็งแรงขึ้น ก็เกิดความสงสัยว่าทำไม เราไม่เคยเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ในโรงเรียนแพทย์เลย หลังจากนั้น จึงได้รู้ว่ามีศาสตร์ทางการแพทย์อันหนึ่งที่เปิดสอนทางด้านนี้ในอเมริกา เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการดูแลตนเอง การชะลอวัย การป้องกันความเสื่อม จึงเดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หลังจากนั้นก็กลับมาเขียนหลักสูตรปริญญาโทด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ขณะนั้นถือเป็นวุฒิทางด้านนี้ในระดับปริญญาโทใบแรกของโลกเลยก็ว่าได้  แต่เปิดสอนไปได้ ๒ ปี ก็พบปัญหากับระบบและนโยบายที่เราไม่เห็นด้วย จึงลาออกมาแล้วมาทำหลักสูตรใหม่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่นี่เรามีทั้งแพทย์และกลุ่มวิทยาศาสตร์ ที่ไม่เคยมีพื้นฐานการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มาก่อนเลย แต่สนใจความรู้ทางด้านสุขภาพ เราก็มีความสามารถในการสอนปรับพื้นฐาน และทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้แบบจริงๆ จังๆ ได้”

(หมอมาศยังคงดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)

 

ถ้อยคำที่ฝากไว้

“เตรียมอุดมคือ โรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุด ให้สิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อนที่ดี ครูที่ดี สถาบันนี้ทำให้เราเกิดความฝันเกิดแรงบันดาลใจ คือบันไดชานพักที่ทำให้เรารวบรวมแรงพละกำลัง ในการก้าวกระโดดไปสู่ความสำเร็จในชีวิตขั้นต่อไปได้ แม้จะไม่ได้มีความพร้อมในชีวิตมากมาย แต่ก็ไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือปมด้อย แต่กลับคิดว่า นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เรายิ่งต้องใช้สิ่งที่เราทุคนมีเหมือนกันมากกว่าคนอื่น นั่นก็คือความพยายาม ผมรู้จุดด้อยในตนเอง แต่ไม่เคยคิดว่านั่นคือ ปมที่จะมาขัดชวางความสำเร็จในชีวิต ในทางตรงกันข้าม เรากลับพยายามที่จะปรับปรุงมัน หากปรับปรุงไม่ได้ เราก็จะพยายามหาจุดเด่นในตัวเอง ซึ่งแม้จะมีเพียงน้อยนิด แต่ถ้าเรามองเห็น และพัฒนาให้มันเด่นมากยิ่งขึ้น มากจนมันกลบจุดด้อยในตัวเรา ก็จะไม่มีใครเคยเห็นจุดด้อยนั้น … จงจำไว้ว่า ไม่มีใครจะดูถูกตัวเราได้ถ้าเราไม่ยอม!”

__________________________________________________________________________________________________________________

ทบทวนจากงานเขียน “9 ความฝัน 9 ความสำเร็จ” ใน หนังสือที่ระลึกงานคืนสู่เหย้าปี 2562  ซึ่งจัดทำโดย สนตอ. 2561-2562. หน้า 53-55 (วลีทิพย์ โรจนาลักษณ์, ผู้ทบทวน, 2566).