เกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียนเตรียมฯ ในระหว่างสงครามมหาเอเชียมหาบูรพา วันที่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงเรียน ??
ติดตามปฏิบัติการของ “ครู” ที่ต้องกลายเป็น “จารชนจำเป็น” !
ทั้งลุ้นระทึกและขบขันกับเรื่องราวในอดีต ที่ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในความเสียสละของคุณครูในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน
คัดลอกจากบทความ “วันแรกที่ญี่ปุ่นเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ” เขียนโดย ศุจิกา เศรษฐบุตร ตีพิมพ์ในหนังสือ 25 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตีพิมพ์เมื่อปี 2506
……………………….
ข้าพเจ้าได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกประจำวันของข้าพเจ้าว่า ระหว่างนั้นโรงเรียนปิดภาค ข้าพเจ้าไปอยู่เวรเมื่อวันอังคารที่ 9 ธันวาคม 2484 และข้าพเจ้าได้ไปถึงโรงเรียน เวลา 7.30 น.
ข้าพเจ้าเดินเข้าประตูด้านถนนพญาไทย เพื่อจะมาประจำอยู่ที่ตึก 2 ข้าพเจ้าได้เห็นทหารญี่ปุ่นสองสามคนเดินอยู่ ทำท่าทางคล้ายกับว่าเดินเล่นอยู่ในบ้านของเขาเอง เมื่อคืนวันที่ 8 ธันวาคมนั้น ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่า ได้มีกองทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา และบางแห่งได้มีการสู้รบกับทหารไทยด้วย ทหารไทยของเราได้พลีชีวิตเข้าแลกกับความเป็นไทยในการต่อสู้ครั้งนั้นหลายนายด้วยกัน
ทหารญี่ปุ่นที่ข้าพเจ้าเห็นวันนั้น เข้ามาในโรงเรียนเตรียมฯ ทางด้านถนนสนามม้า ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีถนนและประตูให้เข้าออกดังเช่นปัจจุบันนี้
สมัยนั้นคลองอรชรยังมีเรือแจว เรือพาย ขายของขึ้นล่องอยู่ไม่ขาด สองฝั่งถนนสนามม้ายังมีกอไผ่เรียงรายอยู่เป็นระยะๆ ถนนก็ยังไม่ได้ราดยาง จึงดูเป็นชัยภูมิอันเหมาะที่เขาจะบุกฝ่าเข้ามาทางนั้น โดยตัดรั้วลวดหนามกั้นเขตโรงเรียนเข้ามา
เขามองดูข้าพเจ้าแล้วก็ไม่เห็นว่ากระไร ข้าพเจ้าเลยทำเป็นคนไม่รู้เรื่อง เขาอาจเห็นข้าพเจ้าตัวเล็กเกินไป จึงไม่อยากเอาเรื่องด้วยก็ได้
ข้าพเจ้านึกสังหรณ์ในใจว่า อะไรกันนี่ บ้านเคยอยู่ อู่เคยนอนของเราแท้ๆ เราจะต้องยอมให้เขาเข้ามาครอบครองไว้ด้วยหรือ หรือจะเอายังไงกัน
ข้าพเจ้าเดินอ้อมหลังตึกไปที่บ้านพักอาจารย์จรูญ เศตะรุจิ ใกล้บริเวณโรงรถของโรงเรียน (ขณะนี้ใช้เป็นเรือนรับรอง อยู่ตรงข้ามบ้านอาจารย์ศรีศิลป์ สุขานุสาสน์) อาจารย์จรูญบอกให้ข้าพเจ้ารับไปที่บ้านท่านผู้อำนวยการ คือ พณฯ รัฐมนนตรีศึกษาปัจจุบัน ที่นั้นข้าพเจ้าได้พบอาจารย์มาลี อติแพทย์ อาจารย์ไพเราะ ตันทิกุล และอาจารย์บุญเลื่อน เครือตาชู เมื่อได้ปรึกษากันเป็นที่ตกลงแล้ว เราก็ไม่ต้องรอคำสั่งอะไรอีก ข้าพเจ้ายังจำได้ดี อาจารย์บุญเลื่อน เครือตาชู (คือผู้ช่วยผู้อำนวยการปัจจุบัน) นุ่งผ้าถุงสีชมพู เหน็บมีดพับไว้กับพวงกุญแจ บอกว่าเอาติดไปไว้ป้องกันตัว ไม่มีใครแต่งฟอร์ม นอกจากข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ามาอยู่เวร และเราก็ประสงค์จะให้ทหารญี่ปุ่นเข้าใจว่าเราไม่ใช่ข้าราชการ
เราได้นำรถยนต์มาจอดริมถนนใกล้โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แล้วเราก็เดินเข้าโรงเรียนทางประตู 40 (นักเรียนเตรียมฯ ทุกคนรู้จักประตูนี้ดี) ไม่มีใครผ่านเข้าออก เพราะปรากฏว่าถ้ามีคนกล้าเกิดขึ้น ก็จะต้องถูกตัดคะแนนความประพฤติ 40 คะแนน ประตูนี้จึงใช้ผ่านเฉพาะพวกแม่ค้าร้านอาหาร และคนงานของโรงเรียนเท่านั้น
เราทั้งสี่คนแอบเข้าไปในโรงเรียนได้อย่างสบายจนถึงตึกทางด้านหลัง อาจารย์ไพเราะเข้าตึกหนึ่ง อาจารย์บุญเลื่อนกับข้าพเจ้าเข้าตึกสอง อาจารย์มาลีเข้าตึกสาม นัดกันไว้ว่าให้เวลาครึ่งชั่วโมงสำหรับเก็บเอกสารที่จำเป็น แล้วให้มาพบกันที่ห้องทะเบียนตึกสอง ข้าพเจ้าแอบดูเห็นทหารญี่ปุ่นยังเดินไปเดินมาอยู่หน้าตึก ไม่ได้ขึ้นมาบนตึก เพราะห้องเรียนทุกห้องปิดหมดเนื่องจากเป็นเวลาปิดภาค
อาจารย์ไพเราะไปที่ตึกหนึ่ง ก่อนอื่นได้ตัดสินใจทำลายแผนที่จังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งเรามีไว้สำหรับจัดเดินรถรับส่งนักเรียนหญิงในสมัยนั้น เพราะเห็นว่าถ้าเก็บไว้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คงไม่ใช่พวกเราคนไทยเป็นแน่ ครั้นจะขนเอามาด้วยก็เกรงว่า นายแว่นที่เดินอยู่หน้าตึกจะสนใจขึ้นมา จะพลอยหาให้พวกเราอีกสามคน ต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่จากบ้านเก่าไปอยู่ที่ไหนไม่รู้
ทางตึกสอง อาจารย์บุญเลื่อนรวบรวมของอยู่ที่ห้องทะเบียนใหญ่ ข้าพเจ้าอยู่อีกห้องหนึ่งพอเสร็จแล้วก็จะเข้าไปช่วย แต่เนื่องจากเราไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนว่าเราจะใช้สัญญาณอะไร ให้รู้กันระหว่างเราสี่คน อันที่จริงอาชีพจารกรรมก็ห่างไกลตรงกันข้ามกับอาชีพครู ทั้งสถานการณ์ในขณะนั้นก็บอกไม่ถูกว่าเรากำลังทำอะไร รู้แต่ว่าเรามาเก็บของของเรา แต่เราต้องแอบเข้ามาเพื่อมิให้ผู้อื่นซึ่งมิใช้เจ้าของล่วงรู้
ข้าพเจ้านึกสัญญาณอะไรไม่ออก จึงค่อยๆ แง้มประตูก้าวเข้าไปในห้องนั้น อาจารย์บุญเลื่อนกำลังเก็บเอกสารเพลินอยู่ก็สะดุ้งตกใจ ชักมีดพับด้ามน้อยออกมาเงื้อง่าทันที จนทำให้ข้าพเจ้าพลอยสะดุ้งไปด้วย แต่เมื่อเรามองเห็นขนาดของมีดพับที่เหมาะจะเอาไว้เหลาดินสอดีกว่าแล้ว ก็ทำให้เราต้องหัวเราะกันจนน้ำตาไหล ไม่ช้าอาจารย์ไพเราะและอาจารย์มาลีก็มารวมกันที่ตึกสองอย่างปลอดภัย
ครั้นมาพร้อมกันทั้งสี่คนแล้ เกิดคิดได้ว่าถ้าจะเดินออกไปพร้อมกันทั้งสี่คนคงไม่เข้าที จึงค่อยทะยอยกันออกไปทีละคนที่จอดรถไว้ กว่าเราจะหายใจทั่วท้อง ก็เมื่อได้เห็นทั้งสี่ชีวิตขึ้นมาพร้อมกันอยู่ในรถแล้ว
ในวันนั้นข้าพเจ้าได้ทราบว่า ท่านผู้อำนวยการ คือ พณฯ รัฐมนตรี ก็ได้เข้ามาในบริเวณโรงเรียนเพื่อเก็บเอกสารการเงิน มีอาจารย์สงวน กกกำแหง และนายหยอย มะลิซ้อน หัวหน้าดูแลรถของโรงเรียนติดตามมาด้วย
ส่วนอาจารย์จรูญ เศตะรุจิ ก็มีหน้าที่พูดจาอย่างรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง กับนายทหารญี่ปุ่นทางด้านหน้าตึก เพื่อประวิงเวลาจนกว่าพวกเราจะเก็บของเสร็จ
เราได้ทราบภายหลังว่า ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในโรงเรียนวันนั้นทั้ง 25 คนเป็นนายทหารทั้งสิ้น
ทุกคนปลอดภัยพ้นเคราะห์ไปที เช้าวันนั้นเมื่อเรากลับมาพร้อมหน้ากับท่านผู้อำนวยการ ท่านได้กล่าวว่า ทุกคนได้ทำงานอย่างดีที่สุดแล้ว
เราทุกคนได้ความรู้ว่า หน้าที่กับความเสียสละนั้นมักเป็นของคู่กัน ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่โดยหน้าที่ และตรงตามหน้าที่นั้น บางคราวต้องรู้จักเสียสละทิ้งความเห็นแก่ตัว ความสุขกายสบายใจ ความได้เปรียบเสียเปรียบคนอื่นเสียบ้าง
แต่ผลที่ได้จากการกระทำนี้ เป็นรางวัลที่มีคุณค่าประเสริฐสุดในชีวิต