ประภาส ชลศรานนท์ หรือ “พี่จิก” เป็นชาวชลบุรี จบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าเรียนต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในยุคที่มีนิสิตคณะเดียวกันนี้หลายคน ที่เมื่อเรียนจบแล้วได้ก้าวเข้าสู่วงการโทรทัศน์ เช่น จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ปัญญา นิรันดร์กุล, นิติพงษ์ ห่อนาค, วัชระ ปานเอี่ยม และศรัณยู วงษ์กระจ่าง

ชีวิตแห่งการขีดเขียนของพี่จิก เริ่มตั้งแต่ยังอยู่ในวัยนักเรียน

พี่จิกเริ่มทำหนังสือนิตยสารตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดกลางดอนเมืองชลบุรี

”…เป็นบรรณาธิการ เขียนเกือบทั้งเล่มตั้งแต่อายุสิบขวบ พิมพ์หนังสือโดยการไปอ้อนวอนขออาจารย์โรเนียว วาดปกกระดาษไขโรเนียวเอง หมุนเครื่องโรเนียวด้วยมือตัวเอง … “

พอมาเรียนที่เตรียมอุดม นอกจากการเขียน การวาด พี่จิกก็ก้าวไปถึงการทำละคร การแต่งเพลง และการออกแบบที่ยากขึ้น

“…ทำนิตยสารประจำห้องเรียน วาดรูปการ์ตูนล้อเพื่อนๆ วาดแล้วก็เอามาพิมพ์ สมัยนั้น ที่พอพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวก็ พิมพ์เขียว วาดรูปอาจารย์ให้ท่าน เป็นของขวัญ  วาดใหญ่เป็นเมตร…”

“เพลงหลายเพลงของวงเฉลียง ผมแต่งตั้งแต่ตอนเรียนเตรียมฯ อย่างเพลงกล้วยไข่นี่ ครึ่งเพลงแต่งตอนอยู่ ม.ศ.๔     ตอน ม.ศ. ๕ ก็เขียนบทละครจากหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียน ทำละครเวทีในงานโรงเรียน ออกแบบแสตนด์เชียร์งานกีฬาสี”

เมื่อถึงเวลาต้องเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษา ในสมัยของพี่จิก ไม่ได้มีการแนะแนวอาชีพกันแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน เยาวชนโดยทั่วไปไม่มีโอกาสทดสอบตนเองก่อนว่าเหมาะกับอาชีพไหน ในขณะที่อาชีพสื่อสารมวลชนก็ไม่ได้เป็นที่สนใจและได้รับความนิยมมากนัก พี่จิกเลือกคณะที่ตรงกับความชอบและความสนใจของตนที่สุดคือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะคณะนี้ใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะพอๆกัน และสอนการออกแบบ

จากเด็ก ‘ถาปัด สู่วงการสื่อสารมวลชน

ชีวิตการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย พี่จิกสนุกกับวิชาออกแบบที่หลากหลาย และได้ทำกิจกรรมสารพัดรูปแบบ นับเป็นโอกาสที่เขาได้เรียนรู้และค้นพบความชอบของตัวเองมากยิ่งขึ้น

“ใครทำอะไรเราก็ทำกับเขาหมด จะกีฬา จะออกค่าย จะทำละคร ทำนิทรรศการ รุ่นพี่มาเรียกให้ไปช่วยให้ทำอะไรไปหมด ข้ามคณะไปอักษร ไปเล่นละครวิทยานิพนธ์ของเพื่อนอักษรฯ มันทำให้ได้เห็นอะไรมากขึ้น ตอนนั้นจึงเริ่มรู้ว่า มีงานออกแบบอย่างอื่นที่เราชอบมากกว่าออกแบบบ้านแล้ว”

ต่อมา เมื่อได้ไปฝึกงาน ก็ได้มีประสบการณ์ สัมผัสกับชีวิตการเป็นสถาปนิก  ซึ่งทำให้พี่จิกเริ่มชัดเจนเกี่ยวกับอาชีพมากขึ้น

“จุดเปลี่ยนที่บอกให้ผมรู้ว่า เมื่อเรียนจบแล้ว ผมคงไม่เป็นสถาปนิกแน่ๆ คือตอนฝึกงาน ผมไปฝึกที่ไซต์ก่อสร้าง ไปเจอกับรายละเอียดการแก้แบบก่อสร้าง การแก้การเดินท่อน้ำ ได้เห็นรุ่นพี่ถกเถียงกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ประชุมกันทั้งเย็น เพื่อหาว่า ทำไมคานของอาคารใหม่ที่เทไว้ ไม่ได้ระดับกับคานของอีกฝั่งหนึ่ง ตลอดเดือนที่ฝึกงาน มันไม่มีเรื่องของการออกแบบเลย มีส่วนที่เป็นศิลปะน้อยมาก  เลยรู้ว่าโลกของสถาปนิกมันต่างกับโลกของนักเรียนสถาปัตย์ฯ พอจบมาเมื่อมีโอกาสได้งานสื่อสารมวลชน จึงหันเหมาทำเลย”

งานขีดเขียนกับงานบริหาร

เมื่อเข้าสู่อาชีพในวงการสื่อสารมวลชนแล้ว พี่จิกได้สร้างสรรค์งานที่ให้ความสุขและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่งดงามไว้หลากหลาย และมากมายจนยากที่จะกล่าวถึงให้ครบในกระดาษแผ่นเดียว อย่างไรก็ตาม เราสามารถแยกแยะตามที่พี่จิกบอก ว่าเป็น งานขีดเขียนกับงานบริหาร

ขีด ก็คือ วาดรูป เขียน คือ เขียนหนังสือ เรื่องสั้น บทความ เพลง กลอน และงานเขียนเกี่ยวกับการแสดง เช่น เขียนบทโทรทัศน์ เขียนบทละคร ทั้งหมดนี้เป็นงานที่เขารักและมีความสุขที่ได้ทำ

“ทุกครั้งที่นั่งลงจับดินสอ จับพู่กัน จะรู้สึกเลยว่าเรากำลังกลับมาอยู่ในอาณาจักรของตัวเอง อยากบันดาลสิ่งใด อยากเห็นภาพใด ก็ใช้มือของเรานิรมิตขึ้นมา ไม่ต้องพึ่งพาใครให้มาช่วย

“เป็นเรื่องน่าแปลกที่งานส่วนที่เราชอบนี้ เวลาทำแล้วเหมือนแรงจะไม่หมด แรงจะเพิ่มมาเรื่อยๆด้วยซ้ำ บางทีผมก็ใช้งานขีดๆเขียนๆ เป็นที่ชาร์จพลังเอาไปต่อสู้กับงานบริหาร”

สำหรับงานบริหาร เป็นงานที่พัฒนาขึ้นตามวัยและประสบการณ์ คือ บริหารเกี่ยวกับเพลง (โปรดิวเซอร์เพลง ตั้งบริษัททำเพลง และบริหารค่ายเพลง) บริหารเกี่ยวกับงานเขียน (บรรณาธิการ บริหารสำนักพิมพ์) การกำกับ (ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการบริหารอารมณ์ของคนดู) รวมทั้งบริหารโรงละคร บริหารบริษัทผลิตสื่อ และบริหารสถานีโทรทัศน์ ทั้งหมดนี้ มันทำให้พี่จิก ได้สร้างประโยชน์และความสุขขยายออกไปถึงคนจำนวนมาก ทั้งสังคม และประเทศชาติ

มุมมองต่อความสำเร็จในการทำงานและในชีวิต

สิ่งที่พี่จิกได้ฝากไว้ให้คิดผ่านคำสัมภาษณ์ นั้นคือ มุมมองต่อความสำเร็จในการทำงานและในชีวิต

“โลกนี้ไม่มีอะไรฟลุค ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ”

ทุกอย่างเกิดจากเหตุและปัจจัย เห็นด้วยกับผมไหม วันนี้เกิดจากทุกอย่างของเมื่อวานประกอบกัน”

คนที่ประสบความสำเร็จในมุมมองของผมคือ คนที่ทำให้ตัวเองมีความสุขและทำให้คนอื่นๆ มีความสุขด้วย ยิ่งทำให้คนอื่นมีความสุขแผ่กว้างออกไป คนนั้นยิ่งประสบความสำเร็จมาก

“มนุษย์เราต้องสร้างความสมดุลย์ระหว่างความชอบและความรับผิดชอบ”

“สำหรับผมแล้วผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร งานประเภทไหน ความรักและความรับผิดชอบอย่างเสมอต้นเสมอปลายกับความฝันของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ”

 

บางส่วนของผลงานของพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์

  • การก่อตั้งและแต่งเพลงส่วนใหญ่ให้กับวงดนตรีเฉลียง
  • ผลงานเพลงอื่นๆ เช่น ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน พ่อ พี่ชายที่แสนดี คู่ทรหด สาวลาวบ่าวไทย เจ้าภาพจงเจริญ เป็นต้น
  • สารคดีในรูปแบบใหม่คือ “สารคดีดนตรีเล่าเรื่อง” ชื่อ “น้ำคือชีวิต” ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  • การคิดค้นรายการที่เป็นต้นฉบับของคนไทย เช่น คุณพระช่วย  อัจฉริยะข้ามคืน แฟนพันธุ์แท้ เกมทศกัณฐ์ สู้เพื่อแม่ ชิงช้าสวรรค์
  • แต่งเพลงนำเสนอ ศิลปะ วัฒนธรรม ของไทย อาทิ เพลงควายไทย เพลงข้าวเหนียว เพลงรากไทย คุณพระช่วย ฯลฯ
  • ผลงานรวมเล่มจากการเขียนบทความในคอลัมน์ “คุยกับประภาส” ในหนังสือพิมพ์มติชน
  • ผู้บริหารบริษัทเวิร์คพอยท์เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
  • การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23

ทบทวนจากงานเขียน “9 ความฝัน 9 ความสำเร็จ” ใน หนังสือที่ระลึกงานคืนสู่เหย้าปี 2562  ซึ่งจัดทำโดย สนตอ. 2561-2562. หน้า 47-49.