สุภาพร ชูดวง
นักเรียนเก่าเตรียมอุดม รุ่นที่ 40
ชีวิตที่ลิขิตให้สั่งสมความสามารถและประสบการณ์บนทางเดินอันคดเคี้ยวที่มุ่งไปสู่ การเป็นเจ้าของร้านอาหาร “บ้านส้มตำ”
คุณสุภาพรในวัยเด็กนั้นคิดอยากจะเป็นครู ถึงขั้นจะเรียนต่อวิทยาลัยครู แต่ด้วยคำแนะนำของคุณแม่ เธอจึงได้เลือกเรียนต่อมัธยมปลายในสายสามัญก่อนเพื่อจะสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
“… จบผดุงฯ (ผดุงดรุณี) ก็อยากไปเข้าวิทยาลัยครู แม่บอก เธอเรียนเก่ง ไปเข้าครุฯ ก็น่าจะได้”
คนเรียนเก่งมักจะเลือกเรียนสายวิทย์ แม้ว่าในความจริงสายศิลป์อาจจะเหมาะกับตนเองมากกว่า
คุณสุภาพรเลือกสอบเข้าเรียนมัธยมปลายในสายวิทย์ ตามเหตุผลและค่านิยมของเด็กเรียนเก่งในยุคนั้น แต่พอได้เรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับผลการเรียนก็ไม่ได้เหมือนกับเมื่ออยู่โรงเรียนเดิมเสียแล้ว
“…ตอนสอบเข้าเตรียมฯ ไปสมัครสอบสายวิทย์ เพราะมีคนบอกว่าเราเรียนเก่ง แต่พอเข้าไปเรียน ไม่รุ่งเลย…”
อย่างไรก็ตาม ที่โรงเรียนเตรียมฯ คุณสุภาพรได้รับการหล่อหลอมทั้งความรู้ คุณธรรม และความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ
“ชีวิตในโรงเรียนเตรียมฯ ให้ความภูมิใจ เราอยู่ในสังคมที่คิดมาแล้ว เด็กทุกคนมีความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ เหมือนเป็นสังคมที่เลือกมา กรองมาให้เรา ทั้งความรู้ และความดี”
จนเมื่อถึงเวลาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ได้เปลี่ยนการตัดสินใจมาสอบสายศิลป์ ตามคำแนะนำของคุณน้า
“…มาพลิกชีวิตตอนคุณน้าบอกว่า เธอน่าจะไปเรียนนิเทศน์ฯ ตอนนั้น นิเทศศาสตร์เพิ่งเปิด เกือบจะเอ็นฯ อยู่แล้ว พลิกมาสอบสายศิลป์ เอาวิชาวิทย์ ข. ไปสอบนิเทศฯ สอบได้ ไปแอบตรวจคะแนน เราเข้าได้เพราะวิชาภาษาไทย เข้าใจผิดมานาน”
ได้มาพบสิ่งที่ชอบเมื่อได้เข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์
“ตอนนั้นไม่รู้เลยว่านิเทศฯ เขาเรียนอะไรกัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียนแผนกอะไร เราก็มาเรียนพีอาร์ เรียนๆ ไป ชอบมาก ชอบเขียนข่าว เพ้อฝันหน่อยๆ ได้ทำงานกับอาจารย์ที่ท่านทำงานข้างนอกด้วย ไปช่วยงานยูนิเซฟ…”
เมื่อไปทำงานสายการบิน ก็ได้รับการบ่มเพาะความสามารถในการจัดการงานบริการ และการพัฒนาบุคลากร
“พอจบจริงๆ คุณพ่อทำงานการบินไทย พี่น้องก็ทำแอร์ไลน์กันเยอะ ก็เลยได้เป็นกราวให้กับ BOAC ที่ดูแลบริติชแอร์เวยส์แล้วก็แควนตัส ทำได้ประมาณปีครึ่งหรือสองปี แควนตัสก็แยกไปทำเอง ไปอยู่กับเขา เป็นกราวน์มาตลอด 7-8 ปี งานแอร์ไลน์เป็นงานเซอร์วิสชั้นสูง ต้องทำภายในเวลาจำกัด เชื่อในเรื่องเทรนนิ่ง ทุกอย่างเป็นแมนนวล เราเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ทั้งนั้นเลย ผ่านการบ่มเพาะมา…”
งานกราวที่แอร์พอร์ตทำให้คุณสุภาพรได้รับการฝึกฝนในเรื่อง ระบบการทำงานบริการชั้นสูง ที่ซํบซ้อน ในเงื่อนไขของเวลาที่จำกัดและความปลอดภัย และถูกบ่มเพาะความเชื่อในเรื่องการฝึกอบรมพนักงาน การใช้คู่มือปฏิบัติงาน เป็นเวลา 7-8 ปี
ต่อมาเมื่อต้องย้ายไปทำงานด้านการจองตั๋วและออกตั๋ว ก็เกิดความเบื่อ ในขณะนั้นเองเมื่อมีงานใหม่ด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามา จึงได้ลาออกจากงานสายการบิน
ประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์
หลังจากที่ได้ทำงานเป็น Duty Manager ดูแลตึก ดูแลสัญญา บริหารจัดการอาคาร อาพาร์ตเมนท์ให้เช่า อยู่สองปี คุณสภาพรก็ได้ประสบการณ์ตรงนั้นมา
จากนั้นก็ได้ไปช่วยงานฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ในตำแหน่ง Customer Service ซึ่งต่อมางานเน้นการขายพื้นที่มากขึ้น อันเป็นงานที่ไม่ชอบ จึงได้ลาออกมาหาอาชีพใหม่
เริ่มคิดประกอบกิจการของตนเอง
ด้วยความที่เคยอยากเป็นครูและอยู่ในวงการศูนย์การค้า คุณสุภาพรมีความพยายามจะเปิดโรงเรียน เช่น สถาบันดนตรี และโรงเรียนคุมอง แต่ก็ไม่ใช่ และไม่ได้ผล
เมื่อองค์ประกอบครบ เวลามาถึง จึงเกิดกิจการ “บ้านส้มตำ”
ในช่วงเวลานั้นเอง คุณสุภาพรมีโอกาสได้สูตรอาหารอิสานมา จึงตัดสินใจทำร้านอาหารอิสาน
“ตัดสินใจไปมัดจำตึกเลย พอดีบ้านสามีอยู่สายสอง…”
ในการพัฒนาสูตรของที่ร้าน คุณสุภาพรต้องใช้ทั้งความคิด ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า และใช้ใจด้วย
“…คิดสูตรด้วยลิ้น แบบแดจังกึม ชิมแล้วแยกแยะได้ว่าอะไรเกินอะไรขาด มันเหมือนไสยศาสตร์ เราบอกลูกน้องได้ว่าต้องสะบัดมือแบบนี้ หั่นแบบนี้ ไม่ ต้องทำให้ดูด้วย จะซอยหอม บอกเลยว่าต้องซอยแบบนี้เหมือนองค์ลง”
ในด้านบุคลากร คุณสุภาพรใช้ประสบการณ์จากงานสายการบิน
“งานแอร์ไลน์สอนว่าคนเทรนได้ มีกรอบให้ มีข้อปฏิบัติเป็นข้อๆ ร้านก็จะปฏิบัติตามนั้น”
การทำงานที่นี่จึงไม่ขึ้นอยู่กับพ่อครัวแม่ครัวคนใดคนหนึ่ง แต่ใช้การฝึกฝนพนักงานให้ปฏิบัติได้ตามแบบที่วางไว้ และมีข้อปฏิบัติของร้าน ว่าต้องใช้สูตรไหน ใช้อุปกรณ์อะไร
“…ร้านเราไม่มีปัญหาเรื่องกุ๊กออก คุณต้องใช้ช้อนนี้ สูตรนี้ แม้กระทั่งเสียงตำครก ซึ่งต้องฝึกมา ไม่ว่าคุณจะมาจากไหน อย่าพยายามแหกคอก ถ้าแหก ทุกครั้งจะ fail ที่จริงแล้วสูตรเราไม่ยาก วิธีคิดวิธีทำมันมาจากคนที่ไม่ได้ทำกับข้าว แต่มันต้องละเอียด…”
ในด้านสวัสดิภาพของลูกจ้าง ก็มีการเอาใจใส่เรื่องการกินการอยู่และค่าตอบแทน
“…ทุกสาขามีที่พัก กินอยู่สามมื้อ ให้ทุกอย่าง เราต้องดูแลเหมือนลูกหลาน ให้เงินเดือนเท่ากัน ไม่ว่าต่างชาติหรือคนไทย”
ในด้านวัตถุดิบนั้น ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ส่วนเรื่องรสชาติก็มีการควบคุมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“วัตถุดิบเราต้องดี จัดเก็บดี ปรุงได้มาตรฐาน มะนาวเราใช้มะนาวแท้วันละ 6 กระสอบ น้ำตาลปี๊บเป็นน้ำตาลมะพร้าว น้ำปลาหรือน้ำปลาร้าต้องมีคุณภาพ ที่นี่เราจะมีครัวกลาง ลงทุนทำเซ็นเตอร์ ทุกอย่างที่เป็นรสชาติจะออกจากเซ็นเตอร์หมด เช่น น้ำส้มตำ น้ำจิ้ม ยกเว้นพวกปลา ผัก จะสั่งเข้าร้านแต่ละร้าน”
บ้านส้มตำ เป็นร้านอาหารอิสานติดแอร์ เริ่มจากร้านแรก ที่พุทธมณฑลสาย2 มาจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2565) 17 ปีแล้ว เคยพบพานอุปสรรคใหญ่ๆ มาแล้วในช่วงน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 แต่ก็ผ่านมาได้
จนถึงปัจจุบัน มีร้านบ้านส้มตำ 10 สาขา ได้แก่ สาขาพุทธมณฑลสาย2 สาขาบางรัก สาขาสาทร สาขาพระราม5 สาขาพุทธมณฑลสาย4 สาขาสุขุมวิท สาขาพุทธมณฑลสาย1 สาขาบางนา สาขาพระนั่งเกล้า และสาขาชิค รีพับบลิค รามอินทรา 107 (www.baansomtum.com)
เป้าหมาย ความมั่นคง และความสุข
ความฝันหรือเป้าหมายของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องที่นึกคิดขึ้นมาลอยๆได้ แต่จะผุดขึ้นมาในจิตใจเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
“มันอาจเป็นความฝันลึกๆ ต้นแบบคือ ร้านกัลปพฤกษ์ ร้านนี้แว็บเข้ามาในหัวเลย…”
“ทุกอย่างถูกคิดจากคนที่ทำไม่เป็น คำนี้เลย ร้านอาหารอิสานมันอินเตอร์ได้นะ ความสำเร็จมันอยู่ที่ รสชาติ การบริการและสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบ…”
จนถึงปัจจุบัน คุณสุภาพร ไม่ได้เร่งการเติบโตของตัวเลขรายได้ แต่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้วย และพอใจกับความสุขในงานที่ร้านกับการได้เห็นความเจริญเติบโตของผู้ที่ได้ทำงานที่ร้านบ้านส้มตำ
“เราทำทุกอย่างมาเหมือนเครื่องบิน เวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลา take off กับเวลา landing ยังไงถึงจะปลอดภัย มีคนมาชวนเข้าตลาดเยอะมาก แต่เราไม่ชอบเงิน ไม่ชอบตัวเลข ไม่สนใจเรื่องรายได้เลย แค่มีความสุขกับการเข้าร้าน เห็นเด็กๆ เติบโต เขาได้บางส่วนจากเราไปต่อยอดได้ ในพม่าจะมีหมู่บ้านที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น “หมู่บ้านส้มตำ” คิดว่าวันหนึ่งจะไปเยี่ยมทำบุญที่นั่น”
คุณสุภาพรฝากข้อเตือนใจไว้ว่า
“คุณต้องพร้อมเสมอ อย่าทำอะไรที่เกินตัว นี่คือสัจธรรมของชีวิต”
ทบทวนจากงานเขียน “9 ความฝัน 9 ความสำเร็จ” ใน หนังสือที่ระลึกงานคืนสู่เหย้าปี 2562 ซึ่งจัดทำโดย สนตอ. 2561-2562. หน้า 50-52