โครงการ “เด็กเตรียมฯ เด็กดี ตามรอยพระบาท รัชกาลที่ ๙”
เหตุผลและความเป็นมา
เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้รับรู้ และมีจิตที่จะร่วมกันสนับสนุน และสืบทอดโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทย ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนตอ.) และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีความเห็นร่วมกันที่จะพัฒนากิจกรรมให้นักเรียนได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ โครงการตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างใกล้ชิด และลึกซึ้ง เข้าใจถึงหลักการ ความจำเป็น และประโยชน์ของโครงการ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรที่มี ร่วมกันสานต่อโครงการให้สัมฤทธิ์ผลและขยายผลไปไกล
ทั้งนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นแหล่งที่ผลิตนักเรียน อันเป็นทรัพยากรของประเทศที่มีศักยภาพมากมาย และสามารถเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อ ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เติบโตได้อย่างกว้างขวางในอนาคตต่อไป รวมทั้งช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้ และประโยชน์ของโครงการดังกล่าว ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ตระหนักและรับรู้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น ฝ่ายกิจกรรมฯ สนตอ. จึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จริง ในโครงการของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่พัฒนาชุมชนให้เติบโตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งตัวของนักเรียนเองก็จะได้รับการฝึกฝน พัฒนาให้เป็นคน มีจิตอาสา เป็นคนดีที่จะช่วยเหลือสังคมต่อไป
คณะกรรมการโครงการฯ
ประธานอำนวยการอาวุโส | ดร. ปรเมษฐ์ โมลี |
ประธานอำนวยการ | คุณนฤมล ศิริวัฒน์ |
ประธานดำเนินการ | คุณโกมินทร์ พิมทะโนทัย |
รองประธานดำเนินการ | คุณธเนศ เต็มทรัพย์อนันต์ |
ที่ปรึกษา | คุณปรีชา ส่งกิตติสุนทร |
ศ.(พิเศษ) พ.ต.ต.ดร. ยงยุทธ สาระสมบัติ | |
พล.ต.อ. สุนทร ซ้ายขวัญ | |
คุณธงชัย ล่ำซำ | |
น.อ.(พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ | |
คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ | |
พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี | |
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี | |
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ | |
คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ | |
ดร.พสุ โลหารชุน | |
คุณสิริกร มณีรินทร์ |
ลักษณะของกิจกรรม ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ กำหนด ๒ กิจกรรมหลักดังนี้
กิจกรรมที่ ๑ “ตระหนักรับรู้”
เข้าชมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห้องทดลองขององค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และอาจารย์ จำนวนประมาณ ๑,๗๕๐ คน
ระยะเวลากิจกรรม
๑/๒ วัน โดยจัดห้องเรียนกระจายไปเรียนรู้ในช่วงเดือน ก.ค.- ธ.ค. ๒๕๖๐
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ทำให้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษา เรียนรู้ และสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่ได้ไปรับรู้
ทำให้นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะเดินตามรอยพระบาท เป็นคนดี มีจิตอาสา เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสืบไป
กิจกรรมต่อเนื่อง
พิจารณาเพื่อมอบหมาย
- ทำรายงานสรุป หรือ เขียน Blog เรียนรู้อย่างไร มีแรงบันดาลใจอย่างใด
ให้นักเรียนแต่ละห้องร่วมกันคิดและทำโครงการที่ต่อเนื่อง จากการไปเรียนรู้ที่โครงการส่วนพระองค์ฯ
งบประมาณ
ประกอบด้วย ค่าพาหนะเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม อาหารว่าง รวมทั้งค่ากิจกรรมกระตุ้นและกิจกรรมต่อเนื่อง จำนวนเงินรวม ๗๐๐,๐๐๐ บาท
กิจกรรมที่ ๒ “ประสบการณ์จริง”
นำนักเรียนและอาจารย์ ไปสัมผัสและรับรู้ประสบการณ์จริง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีทั้งหมด ๖ แห่งทั่วประเทศ เป็นที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ นำโครงการต่างๆไปทดลองทำจริง ในพื้นที่ที่สัมพันธ์กับงานโครงการ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯจะมีหน่วยงานราชการ กรม กองต่างๆที่เกี่ยวข้อง มาสนับสนุน มาร่วมวางแผนดำเนินการเป็นแบบ One stop service จนโครงการประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็นำไปช่วยเหลือชาวบ้านที่สมัครใจในการรับโครงการไป ลงมือปฏิบัติจริงพัฒนาเป็นอาชีพ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นผู้ให้คำปรึกษา (กิจกรรมลักษณะนี้ทางกองราชเลขาธิการได้ดำเนินการมาแล้ว ๔ รุ่น ในระดับอุดมศึกษา ใช้เวลาประมาณ ๒๔ วัน/รุ่น)
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
นักเรียนที่ผ่านกิจกรรม “ตระหนักรับรู้” อาสาสมัครจำนวน ๔๐-๕๐ คน
ระยะเวลากิจกรรม
ประมาณ ๑๕ วัน ในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ โดยเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ๒-๓ วัน ลงพื้นที่ปฏิบัติเรียนรู้อยู่กับชาวบ้าน ๑๒-๑๓ วัน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศชาติ ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ ถึงแนวคิด แนวปฎิบัติ กระบวนการการแก้ปัญหา การช่วยเหลือ การมีส่วนร่วม ตามแนวทางการทำงานของในหลวง รัชกาลที่ ๙ รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงหลักการทรงงาน ศาสตร์ของพระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ซึ่งนักเรียนสามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต
- ครูอาจารย์ที่ร่วมไปกับกิจกรรม ได้รับความรู้ ได้เห็นของจริง สามารถนำความรู้ต่างๆมาพัฒนาต่อยอดในการเรียนการสอน ในชั้นเรียน
กิจกรรมต่อเนื่อง
พิจารณาเพื่อมอบหมาย - นักเรียนจัดกลุ่มกันทำโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยใช้ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้มาเป็นแนวทาง และนำผลของโครงการมานำเสนอให้กับ นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาในช่วงเปิดเทอม ปีการศึกษา ๒๕๖๑
งบประมาณ
ค่าพาหนะเดินทาง ค่า Organizer ค่าอาหารและที่พัก ค่าวิทยากร ค่ากิจกรรมกระตุ้น กิจกรรมต่อเนื่อง ประมาณ ๒.๓ ล้านบาท
งบประมาณรวมทั้ง ๒ กิจกรรม ประมาณ ๓.๐ ล้านบาท