ตึก 3 เป็นตึกที่ 3 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๔๘๓ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ Ercole Manfredi ซึ่งเข้ามารับราชการในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และยังเป็นผู้ออกแบบพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และวังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือวังจักรพงษ์
ในเอกสารราชการของไทยสมัยนั้น ตึก 3 ถือเป็น “สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย” มีองค์ประกอบและรูปทรงที่เรียบง่ายและออกแบบด้วยการให้ความสำคัญของการใช้งาน
ในส่วนของผังและรูปทรงเป็นแบบอสมมาตร คือซ้าย ขวา ไม่เท่ากัน เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานจริงในแต่ละส่วน เช่น ปลายอาคารด้านตะวันตกเป็นห้อง lecture hall ที่มีอัฒจันทร์ ส่วนปลายอีกด้านเป็นอีกรูปทรงหนึ่ง ซึ่งนับเป็นความใหม่ของอาคารที่แตกต่างจากอาคารการศึกษาในยุคก่อนหรือยุคเดียวกันที่ส่วนใหญ่ที่มีความสมมาตรของรูปทรงซ้าย ขวา หรืออาจเน้นมุขตรงกลาง ซ้าย ขวา เป็นต้น
ทั้งภาพลักษณ์และการใช้งานจริง ตึก 3 จึงสะท้อนสถานะใหม่ของสถาบันการศึกษาของประเทศ ทั้งการเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรก และโรงเรียนระดับเตรียมมหาวิทยาลัยแห่งแรก อันเป็นส่วนหนึ่งของการขยายแผนการศึกษาขั้นสูงเพื่อการพัฒนาประเทศในสมัยนั้น
ผศ. ดร. ชมชน ฟูสินไพบูลย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาคุณค่าและความพิเศษของตึก 3 ได้เน้นย้ำความพิเศษของตึกนี้ในส่วนอื่นๆ อีกว่า
“ระเบียงที่เชื่อมห้องต่างๆ ตรงนี้เป็นความพิเศษในแง่ของการออกแบบที่เข้าใจวัสดุการก่อสร้างสมัยใหม่ในตอนนั้น คือคอนกรีตเสริมเหล็ก และใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างหลังคาได้ยื่นมาคลุมระเบียงแล้วพับลงมาเป็นผนัง และยื่นต่อไปเป็นแผงกันแดดบางๆ โดยไม่มีเสามารับตัวโครงสร้างที่ยื่นออกเป็นระยะตลอดแนวระเบียงเลย ซึ่งทำได้ก็เพราะว่าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและผู้ออกแบบก็พยายามใช้คุณสมบัตินั้นมาทำให้เกิดรูปทรงและที่ว่างแบบใหม่”
“ระเบียงตรงนั้นโปร่งโล่งอย่างมาก สว่าง มีลมพัดสบาย ชมวิวได้กว้าง เป็นระเบียงที่ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่ใช้เดินผ่านไปมาอย่างเดียว”
ทั้งหมดนี้คือความพิเศษและคุณค่าของตึก 3 ซึ่งช่วยย้ำเตือนถึง “ความล้ำ” ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งที่ได้พัฒนาการศึกษาและพัฒนาประเทศชาติตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต
อ้างอิง “คุณค่าและความพิเศษของตึก ๓ ด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม” โดย ผศ.ดร. ชมชน ฟูสินไพบูลย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเก่าเตรียมอุดม รุ่น 61